วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชื่นชม โรงแรมตักสิลามหาสารคาม นายกนก ศรีวิชัยนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
พร้อมด้วยนายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายรัฐ คลังแสง ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ ผู้นำชุมชน ภาคประชาชน ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา กรรมการลุ่มน้ำชี สภาเกษตรกรและสื่อมวลชนเข้าร่วม เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปจัดทำแผนการบรรเทาอุทกภัยให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน มุ่งเน้นแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งให้เป็นไปตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
นายสุประพล วัตตะสิริชัย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า สืบเนื่องจากจังหวัดมหาสารคามตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนกลางของลุ่มน้ำชี ส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำชี ลำน้ำพอง ลำปาวและจุดบรรจบของลำน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งจังหวัดมหาสารคามได้รับอิทธิพลจากพายุดีเพรสชัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัยและอำเภอเมืองมหาสารคาม ได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตร ประกอบกับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่มีมูลค่าสูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2568 - 2569 กรมชลประทานจึงได้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัย อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงเป็นการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสม การสำรวจออกแบบเบื้องต้น การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ-สังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ การประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุม 49 ตำบล 4 อำเภอ ได้แก่ เขตอำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ซึ่งคาดว่าการศึกษานี้จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2569
โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คาดว่าจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ลดความเสียหายของพื้นที่ มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต