กรมชลประทาน เดินหน้า 3 โครงการเร่งด่วน ปตร.ลำน้ำชี “บ้านโนนเขวา-บ้านท่าสวรรค์-บ้านท่าสองคอน”หวังเป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ น้ำต้นทุนเพิ่มกว่า 57 ล้าน ลบ.ม.

วันที่ 14 พ.ย. 2567 ที่ห้องประชุม อบต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสุริยงค์ พลน้ำเที่ยง ปลัดอำเภอ รักษาการแทนนายอำเภอแวงน้อย นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน นายฉัตรดำรง หงษ์บุญมี ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่2 กรมชลประทาน นายอัคคนิ รูปสูง นายก อบต.ท่านางแนว นายอธิพงษ์ บุญเพลิง กำนันตำบลท่านางแนว 
นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ลุ่มน้ำชีเพื่อติดตามผลการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี พร้อมเสนอ 3 โครงการเร่งด่วน “ปตร.บ้านโนนเขวา-ปตร.บ้านท่าสวรรค์-ปตร.บ้านท่าสองคอน” สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับลำน้ำชี กว่า 57 ล้าน ลบ.ม. หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำภัยแล้ง-น้ำท่วม อย่างยั่งยืนต่อไป      
     
นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมาได้มีการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำชีมาตลอด มีแหล่งน้ำที่สำคัญ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำปะทาว เขื่อนลำคันฉู รวมกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 5,068 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ปัจจุบันยังมีแผนพัฒนาจัดหากักแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญ เช่น อ่างเก็บน้ำลำเจียง อ่างเก็บน้ำลำสะพุง อ่างเก็บน้ำลำชี เป็นต้น ซึ่งคาดว่าสามารถมีน้ำกักเก็บเพิ่มได้อีกประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ยังได้มีนโยบายที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยใช้ลำน้ำชีเป็นแหล่งกักเก็บ จึงเป็นที่มาของโครงการที่กำลังดำเนินการศึกษา ฯ นี้ ”

จากการศึกษาแผนหลักการพัฒนาประตูระบายน้ำในลำน้ำชี พบว่า โครงการประเภทอาคารบังคับน้ำและประตูระบายน้ำเฉพาะที่ตั้งอยู่ลำน้ำชี มีทั้งหมด จำนวน 10 โครงการ โดยผลการคัดเลือกแผนงานโครงการมีศักยภาพ ในลำดับต้นและประชาชนในพื้นที่มีความต้องการจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา (2) โครงการประตูระบายน้ำ และ (3) โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน จึงได้นำโครงการดังกล่าวไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินงานในขั้นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2567 นี้
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา ตั้งอยู่ในเขตบ้านโนนเขวา ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุม ด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความ กว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 8 ม. จำนวน 5 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,273 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +167 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 6.04 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียว เพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 21,260 ไร่ และสนับสนุนฃพื้นที่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 5 สถานี พื้นที่ชลประทาน 16,550 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ 3 จังหวัด ประกอบด้วย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น, อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ และ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา 

สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าสวรรค์ ต.ท่าศาลา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความ กว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 11.50 ม. จำนวน 5 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,520 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +156 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 19.19 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียว เพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) มีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 13,035 ไร่ และสนับสนุนพื้นที่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 19 สถานี พื้นที่ชลประทาน 24,500 ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอของ จ. ขอนแก่น ประกอบด้วย อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด อ.มัญจาคีรี และ อ.พระยืน
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน ตั้งอยู่ในเขตบ้านท่าสองคอน ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยบานระบายเหล็กโค้ง มีขนาดบานประตูความ กว้างช่องละ 12.50 ม. สูง 9.50 ม. จำนวน 6 บาน มีอัตราการระบายน้ำสูงสุด 2,864 ลบ.ม./วินาที มีระดับกักเก็บ +143 ม. (รทก.) สามารถกักเก็บน้ำได้ 32.46 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทำนบดินชนิดดินถมแกนดินเหนียวเพื่อปิดกั้นลำน้ำเดิมและอาคารทางผ่านปลาชนิดไอซ์ฮาร์เบอร์ (Ice Harbor) พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 18,275 ไร่ และสนับสนุนพื้นที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชี จำนวน 30 สถานี พื้นที่ชลประทาน 40,400 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอ ของ จ.มหาสารคาม ประกอบด้วย อ.เมืองมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย และ อ.กันทรวิชัย
นายสุริยงค์ พลน้ำเที่ยง ปลัดอำเภอ รักษาการแทนนายอำเภอแวงน้อย กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยเฉพาะฤดูแล้งจะต้องมีการกักเก็บน้ำให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย และเป็นเรื่องที่ดีที่ทางกรมชลประทาน จะเข้ามาพัฒนาโครงการแหล่งน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชีที่จะช่วยให้ประชาชนนั้นมีน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ตลอดปี เพราะปกติลำน้ำชีน้ำจะท่วมทุกปี หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นไปด้วย
นายอธิพงษ์ บุญเพลิง กำนันตำบลท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น บอกว่า จากที่ผ่านมาในฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากบ้าง แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำหายหมด ไม่สามารถเก็บน้ำได้เลย หากมีการสร้างประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวาขึ้นจะช่วยให้ชาวบ้านใน 3 อำเภอในเขตนี้ รวมถึงอำเภออื่นๆใกล้เคียง อย่างอำเภอพล อำเภอหนองสองห้อง สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำอุปโภคบริโภคร่วมกันได้ตลอดปี หากโครงการสำเร็จแล้วจะช่วยให้ชาวบ้านได้ประโยชน์หลายด้านทั้งการประมง การปลูกพืชฤดูแล้ง ที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงด้านการท่องเที่ยวบริเวณประตูระบายน้ำที่จะสร้างเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยการนำปลาฝา ปลาน้ำจืดที่เคยมีมากในบริเวณบ้านโนนเขวามาเป็นสัญลักษณ์ในประตูระบายน้ำแห่งนี้ด้วย
นายทองปัก มาพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละหานนา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น บอกว่า สถานีสูบน้ำบ้านหนองผือ เจอสภาพน้ำต้นทุนมีน้อยในช่วงฤดูแล้ง ลำน้ำชีไม่มีระบบกักเก็บน้ำ ทำให้พี่น้องไม่สามารถทำการเกษตรนอกฤดูได้ ทางชาวบ้านอยากให้มีน้ำต้นทุนอยู่ในลำน้ำชี เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปีได้ หากมีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำบ้านหนองผือ จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความจำเป็นในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรม ครอบคลุมพื้นที่ 9,000 ไร่ ที่จะนำน้ำมาทำการเกษตรนอกฤดูเสริมรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ 
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตามแผนงานเร่งด่วน 3 โครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ลำน้ำชีสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 57.69 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิม 54 สถานี รวมพื้นที่ 81,450 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่กว่า 52,570 ไร่ รวมพื้นที่ชลประทาน 134,020 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค การประมง และการปศุสัตว์ สนับสนุนประเพณีท้องถิ่น การท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com