วันที่ 5 เมษายน 2567 พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม จากพันธุกรรม สู่ความยั่งยืน การจัดงานในครั้งนี้เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการพระดำริที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษณ์ทรัพยากร รวมทั้งเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567 พบกับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของปวงชนชาวไทย และนิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จากพันธุกรรมพื้นบ้าน สู่ความยั่งยืน พร้อมเรียนรู้อบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ชม ชิม ช้อป สินค้าผลผลิตเกษตรตามฤดูกาล จากร้านค้าเครือข่ายและภาคีความร่วมมือจากทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 5 – 7 เมษายน 2567 เวลา 08.00 – 17.00 น.
พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า “สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ทำหน้าที่ในการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยด้านการเกษตร และขับเคลื่อน
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นหน่วยงานสนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ยังคงมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานเพื่อปกปักรักษาดิน น้ำ ป่า พันธุกรรมและทรัพยากรไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนคนไทย ทุกหมู่เหล่าได้ “รู้คุณค่า รู้ใช้ประโยชน์” ทรัพยากรไทย และร่วมกันรักษาไว้สืบไปโดยความร่วมมือของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรฯมีความตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้จัดนิทรรศการหมุนเวียน “จากพันธุกรรม สู่ความยั่งยืน” ขึ้นในครั้งนี้
กิจกรรมเด่นภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนในการดูแล รักษา แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และขยายผล สู่ความยั่งยืน
นิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ “จากพันธุกรรม สู่ความยั่งยืน” ถ่ายทอดเรื่องราวของพันธุกรรมพื้นบ้าน ผ่านฐานนิทรรศการทั้ง 6 โซน ประกอบด้วย พันธุกรรมเพื่อการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ข้าวกับประเพณีและวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญากับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน และการ แปรรูปข้าว นิทรรศการผักพื้นบ้าน 72 ชนิด นำเสนอผักพื้นบ้านประจำถิ่น ผักพื้นบ้านหายากมาจัดแสดงให้เรียนรู้ทดลองชิมรสชาติที่แตกต่างกัน นิทรรศการมาดื่ม มาดริ๊ง Wisdomking coffee พร้อมกิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวการจัดการกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อการพัฒนาอาชีพที่มั่นคง จากร้านกาแฟทั่วประเทศ 16 ร้านค้า
พลาดไม่ได้กับการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 12 หลักสูตร ได้ทั้ง Onsite และ Online ฟรี อาทิ หลักสูตร นานาสายพันธุ์กาแฟ โดยอาจารย์สุทิศา พรมชัยศรี เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชุมพร หลักสูตรเทปาเช่ เครื่องดื่ม โปรไบโอติก สไตล์ แมกซิกัน อาจารย์สายชล ธำรงโชติ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชัยนาท หลักสูตรพันธุรรมว่านไทย อาจารย์สุวัฒนชัย จำปามูล เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.นครราชสีมา และหลักสูตรเห็ดเจ็ดชั่วโคตร ผศ.ดร.อุทัย อันพิมพ์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น
ร่วมกันอนุรักษ์พร้อมส่งต่อพันธุกรรมให้กับคนรุ่นใหม่ กับกิจกรรม เพาะ แจก แลก เปลี่ยน พันธุกรรมพืช ชม ชิม ช้อปสินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กว่า 150 ร้านค้า จุใจ ทั้งของกิน ของใช้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้นไม้พันธุ์ไม้ โดยเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ในราคามิตรภาพ
พิเศษ เปิดเข้าชมพิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร และพิพิธภัณฑ์ในหลวง รักเรา ในกรณีพิเศษเนื่องในโอกาสวันจักรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนุกเพลิดเพลินกับการจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าชมเรียนรู้ได้ทุกวัย