ธ.ก.ส. เร่งขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาล ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานมาตรการพยุงราคาข้าว เปลือกปีการผลิต 2566/67 ผ่านสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวมกว่า 34,000 ล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ยและสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% พร้อมสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกอีก 1,500 บาทต่อตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในการชะลอการขายข้าวเปลือกออกสู่ตลาด และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยจ่ายสินเชื่อไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ชูสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด และ สกต. ร้อยเอ็ด ต้นแบบสถาบันเกษตรกร ที่มีการดำเนินงานที่ดีและช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรสมาชิก
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีผลิต 2566/67 ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกแบบครบวงจร ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 1 ล้านราย ประกอบด้วย เกษตรกร 4 แสนราย และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรอีก 6 แสนราย ได้แก่ 1) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67) เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและราคาตกต่ำ วงเงิน 34,437 ล้านบาท กำหนดชำระคืนภายใน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย(รัฐบาลรับภาระจ่ายแทน) เพื่อดูดซับปริมาณข้าวเปลือกจากท้องตลาด 3 ล้านตัน โดยมีชนิดข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิในเขต 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต 23 จังหวัด ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว และ 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไปได้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลรับภาระชำระแทน เป้าหมายรวบรวมปริมาณข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อตั้งแต่บัดนี้จนถึง 30 กันยายน 2567 ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อย สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีได้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้จ่ายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 ไปแล้ว 303 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 ไปแล้วกว่า 877 ล้านบาท
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า การลงพื้นจังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้ นอกจากเป็นการติดตามการดำเนินงานในภาพรวม ทั้งด้านระบบงานและการรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ปฎิบัติงาน เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพ การดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงผู้แทนจากสถาบันเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ ถึงความต้องการที่จะให้ ธ.ก.ส.เข้าไปสนับสนุน ขณะเดียวกันก็เล็งเห็นว่ามีต้นแบบสถาบันเกษตรกรที่เป็นหัวขบวนสำคัญในการยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกและสะท้อนให้เห็นถึงพลังในการรวมตัวของเกษตรกรในการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่น เช่น สหกรณ์การเกษตร เกษตรวิสัย จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร อาทิ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจรับซื้อและรวบรวมผลผลิต เช่น ข้าวเปลือก ผักและผลไม้ ธุรกิจผลิตสินค้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าอุปโภค-บริโภค และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 9,000 ราย ในการรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือก ดำเนินการภายใต้หลักการรวบรวม แปรรูป เพิ่มมูลค่า โดยทางสหกรณ์การเกษตรมีโรงสีที่มีกำลังการผลิตถึง 120 ตัน/วัน มีโรงปรับปรุงคุณภาพข้าวสารและห้องบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน ISO HACCP ทำให้สามารถผลิตและแปรรูปข้าวหอมมะลิพรีเมียมแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ ตราทุ่งกุลา 101 ถุงสีทอง ตราข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฟาร์ม และตราข้าวเกิดบุญ โดยทางสหกรณ์การเกษตรได้เตรียมวางแผนส่งออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ร้อยเอ็ด จำกัด ที่ประกอบธุรกิจภายใต้หลักการ “รอขายเมื่อราคาดี ตอนนี้ชะลอไว้ก่อน” โดยมีการรับซื้อและรวบรวมข้าวเปลือกจากเกษตรกรในพื้นที่ และนำข้าวเปลือกมาแปรรูปจำหน่ายในประเทศ เช่น ข้าว A-Rice เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิก รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการจัดหาปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูก ซึ่งทั้ง 2 สถาบันเกษตรกร ถือเป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร ที่จะสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดและสร้างความเข้มแข็งสู่ภาคการเกษตร