วันที่ 7 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) หรือ OKMD จัดพิธีเปิดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ ภายในงานจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “BCG on the move โมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่ความยั่งยืน” โดยนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาและบูรณาการเป็นหลักสูตรบ่มเพาะ มุ่งสร้างผู้ประกอบการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจ BCG พร้อมระดมผู้เชี่ยวชาญจัดเวิร์คชอปเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG 20 หัวข้อ ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ ณ True Space อาคาร Center point of Siam Square
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้ร่วมมือกับ OKMD ในการนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาและบูรณาการเป็นหลักสูตรบ่มเพาะ โดยมุ่งผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิมได้มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ตามแนวเศรษฐกิจ BCG ที่กำลังเป็นแนวโน้มของการร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับประชาคมโลก และนำไปพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจ BCG ใน 3 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์สีเขียว และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร
“การพัฒนาหลักสูตรบ่มเพาะและเผยแพร่องค์ความรู้ที่บูรณาการระหว่างผลงานวิจัยทางวิชาการและองค์ความรู้จากการลงมือปฏิบัติ และนำมาถ่ายทอดผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะเป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้กลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่ ผู้ว่างงาน ผู้กำลังเปลี่ยนงาน ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการศึกษาองค์ความรู้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG นำไปพัฒนายกระดับสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเรามุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการลงมือทำทันทีหลังจากผ่านการอบรมและเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่เชื่อมโยงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวทิ้งท้าย
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ OKMD คือการส่งเสริมการเรียนรู้สาธารณะ เพื่อยกระดับศักยภาพและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ของคนไทย โดยทำหน้าที่กระตุกต่อมคิด และกระตุ้นความอยากรู้ให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมอุดมปัญญา (Knowledge Society) ซึ่งเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ เราจึงเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากผลงานของนักวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนมาตลอด ในปีนี้ OKMD และ วช. จึงร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมพัฒนาสื่อและถ่ายทอดองค์ความรู้ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในรูปแบบของการจัดทำพอดแคสต์ คลิปองค์ความรู้ การจัดเสวนา หัวข้อ “โมเดลเศษฐกิจใหม่ ขับเคลื่อนไทย สู่ความยั่งยืน” พร้อมนำผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาและบูรณาการเป็นหลักสูตรบ่มเพาะ มุ่งสร้างผู้ประกอบการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เข้าสู่เศรษฐกิจ BCG โดยวิทยากรที่ประสบความสำเร็จ มีประสบการณ์ตรงกับการสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย OKMD ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 ท่าน มาร่วมจัดเวิร์คชอปเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใน 3 กลุ่มธุรกิจสำคัญ คือ กลุ่มธุรกิจสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์สีเขียว และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG 20 หัวข้อ ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพฯ ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้
ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “BCG on the move โมเดลเศรษฐกิจใหม่ สู่ความยั่งยืน” โดย รศ.ดร.พันธวัศ สัมพันธ์พาณิช ผู้อำนวยการสำนักสถาบันสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณยุทธการ มากพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม คุณยุทธนา อโนทัยสินทวี นักออกแบบและเจ้าของธุรกิจ Upcycling และคุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ OKMD ร่วมเสวนา เพื่อถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการสร้างความยั่งยืน ที่กำลังเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก