กระทรวงเกษตรฯ จัดงานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มผลผลิต และรักษาคุณภาพ พร้อมนำงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี มาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิด "งานรณรงค์การถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ปฏิบัติได้จริง" ภายใต้โครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว กิจกรรมหลักสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่เกษตรกร จำนวน 21 ราย สัญญาเช่าที่ดิน จำนวน 5 ราย สินเชื่อ จำนวน 4 ราย จุลินทรีย์ ปม.1 พันธุ์ปลาสำหรับเกษตรกร จำนวน 10 ราย เยี่ยมชมนิทรรศการและพบปะเกษตรกร โดยมี นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบางภาษี ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับนโยบายตลาดนำการผลิต จึงสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้สามารถควบคุมผลผลิตและราคาได้ โดยเชื่อมั่นว่าแนวทางของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่จะสามารถสร้างประโยชน์โดยตรงแก่เกษตรกร เพราะจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ช่วยให้เกษตรกรเรียนรู้และวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานผลผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถกำหนดชนิดผลผลิตตามความต้องการของตลาดได้ และภาครัฐยังสามารถช่วยกำหนดตลาดล่วงหน้าให้ได้ด้วย เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังผลักดันการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และใช้การตลาดสมัยใหม่ เป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อย ทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย การรวมกลุ่มกันจะสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกร โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การเอาเปรียบจากคู่ค้า และมีโอกาสในการขยายตลาดไปช่องทางต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงตลาดต่างประเทศด้วย 
อย่างไรก็ตาม ข้าวคุณภาพดีส่วนหนึ่งจะต้องมาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการทำนา ในขณะที่เราต้องการผลิตข้าวคุณภาพดีให้ได้ปริมาณมากเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออก เพื่อนำรายได้เข้าประเทศมากเท่าใด เราก็ต้องการปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานปริมาณมากตามด้วยเช่นกัน โดยในส่วนของภาครัฐที่ผลิตเมล็ดพันธุ์คือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปีการผลิต 2565/66 มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้ประมาณ 95,000 ตัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของทั้งประเทศ ที่อยู่ประมาณ 1.33 ล้านตัน และในส่วนของหน่วยงานอื่นที่เข้ามาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร นอกเหนือจากสหกรณ์การเกษตรและภาคเอกชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบางส่วนแล้ว ศูนย์ข้าวชุมชนยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สำคัญและใกล้ตัวเกษตรกรที่สุดที่จะมาเติมเต็มปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ยังขาดแคลน ตามหลักการของศูนย์ข้าวชุมชนที่ “ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเองโดยชุมชน แล้วกระจายไปสู่ชุมชนของตนเองและชุมชนข้างเคียงอย่างมีคุณภาพ” 
"การจัดงานครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะมีส่วนกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกของกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วมงาน ได้รับรู้และเข้าใจในการเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ มาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม และการยกระดับมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิต และเพิ่มมูลค่าทางการค้าจากการผลิตข้าวคุณภาพดี โดยเน้นการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรสู่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน 
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่ม GDP ให้กับภาคการเกษตร นั่นก็คือการเพิ่มรายได้ หรือเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนปัจจัยต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปต่อยอดได้ หากวันนี้ทำให้เงินในกระเป๋าของเกษตรกรเพิ่มขึ้น สามารถสร้างความเข้มแข็งได้ ประเทศก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย การใช้เทคโนโลยีในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต จึงเป็นคำตอบที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาดีขึ้นได้ และมาตรการหลังจากนี้ การนำงานวิจัย รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี จะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงขอให้เชื่อมั่นว่ากระทรวงเกษตรฯ จะอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนและเกษตรกรอย่างแน่นอน 
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจหลักทั้งในด้านการบริโภคและการส่งออกของประเทศไทย อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ทำนาประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และการระบาดของโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น ประกอบกับราคาที่เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวมีความผันผวน ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว การลดต้นทุนการผลิตข้าว การเพิ่มผลผลิต และยกระดับคุณภาพ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพัฒนาการผลิตข้าวให้มีความรู้ความเข้าใจ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและผลตอบแทนจากการผลิต ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงนโยบายการพัฒนาข้าวลงสู่การปฏิบัติในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศต่อไป 
ทั้งนี้ จังหวัดนครปฐม กล่าวได้ว่าเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีอัตลักษณ์ที่รู้จักในด้านการเกษตรแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เขตการลงทุน การศึกษาและประตูเศรษฐกิจด้านตะวันตก รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอ 106 ตำบล 930 หมู่บ้าน มีประชากรราว 922,171 คน และมีพื้นที่ราว 1.3 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร โดยเป็นพื้นที่ทำนา 2.7 แสนไร่ พื้นที่พืชไร่ 5.6 หมื่นไร่ และพื้นที่พืชอื่น 3.2 หมื่นไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 1,036,626 ไร่ (163.079 ของพื้นที่เกษตรกรรม)

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com