เกษตรล้ำ AI นำ นวัตกรรมสมัยใหม่ช่วยการเกษตรกรเพิ่มผลผลิต ที่ ซินเจียงอุยกูร์ จีน

ปลายเดือนที่แล้วมีโอกาสเดินทางไปที่ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางไปกับ ธ.ก.ส. ที่ได้นำ 10 เกษตรกรหัวขบวน ไปศึกษาดูงานนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะเสริมทักษะความรู้ความสามารถ พัฒนาศักยภาพ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ดี
หนึ่งในสถานที่ดูงานคือ อุทยานนิทรรศการเกษตรกรรมซินเจียง Xinjiang Agricultural Expo Park หรือ เรียกสั้นๆว่า ศูนย์เกษตรซินเจียง เป็นแลนด์มาร์คศูนย์กลางสำคัญในการพัฒนาและจัดแสดงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน โดยเฉพาะเรื่องของการนำเทคโนโลยีทีาลำสมัย มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการเพาะปลูก มีโอกาสได้เข้าไปดูโรงเรือนอัจฉริยะ ที่มีระบบควบคุมสภาพอากาศอัตโนมัติ มีการปลูกพืชผักในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสุดขั้ว ช่วยลดการนำเข้าพืชผัก เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองของจีน และยังเพิ่มผลผลิตให้ออกมามีคุณภาพมากขึ้น 
ศูนย์เกษตรซินเจียง แห่งนี้ นอกจากจากอุทยานการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาการวิจัยและพัฒนาที่เป็นฐานสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การเกษตร โดยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของซินเจียงให้เปลี่ยนจาก เน้นการใช้แรงงาน มาเป็น เน้นการใช้เทคโนโลยี ที่เห็นชัดเจนคือการปลูกผักในโรงเรือนที่มีการนำระบบ AI เข้ามาควบคุมการให้น้ำ ควบคุมสภาพอากาศ ที่เหมาะสมกับพืช การกำจัดโรคแมลงที่มีแผ่นกาวดัก เพื่อนำแมลงเข้าไปตรวจดูว่าเป็นแมลงอะไร นำไปวิจัย ต่อยอดเรื่องโรคและแมลง จะได้หาหนทางในการแก้ไข ยังมีการนำโดรนมาช่วยในการฉีดพ่นสารเคมี และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย
ซินเจียงอุยกูร์ มีสภาพอากาศที่บริสุทธิ์ แหล่งน้ำที่สะอาด และทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงโคนม ฟาร์มโคนมในซินเจียงอุยกูร์มีความสำคัญในอุตสาหกรรมของจีนด้วย ในซินเจียงอุยกูร์มีฟาร์มโคนมหลายแห่ง Xinjiang Tianrun Dairy Co., Ltd. บริษัท ซินเจียง เทียนรุน เดลี่ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์นมในซินเจียง มีการดำเนินงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกพืชอาหารสัตว์ การเลี้ยงโคนม การผลิตนม ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการตลาด โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการดูแลโคนม เช่น การติดตั้งเครื่องวัดระยะทางเพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของวัว และการเก็บข้อมูลการผลิตนมและสุขภาพของวัวแบบเรียลไทม์เพื่อปรับปรุงโภชนาการและเพิ่มผลผลิต ฟาร์มของ Tianrun Dairy มีขนาดใหญ่และเป็นผู้นำในการผลิตนมของซินเจียง โดยมีส่วนแบ่งการผลิตนมในภูมิภาคนี้มากกว่า 40% 
ทางด้านตัวแทนเกษตรกรที่ร่วมไปศึกษาดูงานอย่างนายสายนธี ธรรมะ ผู้จัดการแปลงใหญ่มะม่วงที่ผลิตทั้งในและนอกฤดู ชุมนบ้านมาบเหียง จังหวัดปราจีนบุรี บอกว่า จากการได้มาศึกษาดูงานที่ ซินเจียงในครั้งนี้ ได้มุมมองใหม่ที่แตกต่าง ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กแต่สามารถให้ผลผลิตได้มากกว่าถึง 10 เท่าเนื่องจากมีนวัตกรรมใหม่ๆมาช่วย อย่างเช่นการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน สามารถลดต้นทุนอย่างเรื่องของการกำจัดวัชพืช ที่ช่วยประหยัดเวลาได้ รวมถึงการควบคุมคุณภาพ การควบคุมอุณหภูมิ ที่ทำได้ดี อีกทั้งยังประหยัดพื้นที่โดยการปลูกแนวตั้ง ทำให้มีผลผลิตที่ได้มากขึ้น หากนำไปใช้เมืองไทยก็สามารถทำได้ แต่ต้นทุนก็จะสูงขึ้น
แต่จะสามารถนำไปปรับใช้ได้กับภาคเกษตรของไทยได้ในระยะยาว
เช่นเดียวกับ น.ส.ศิริรัตน์ ศรีสว่าง อส.ฟาร์มข้าวโพดหมัก จ.สระบุรี หนึ่งในเกษตรกรลูกค้าหัวขบวน ที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานที่ ซินเจียง บอกว่า เป็นผู้ประกอบการ เลี้ยงโคนมและอาหารสัตว์ เป็นฟาร์มโคนมขนาดเล็กยังไม่ได้มีเทคโนโลยีเทียบเท่าที่จีน แต่พอ ธ.ก.ส. ได้ชวนมาดูงาน ทำให้ได้เห็นเทคโนโลยีการผลิตโคนม การแปรรูป การปลูกพืชอาหารสัตว์ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้มีผลผลิตที่ดี ทั้งน้ำนมและคุณภาพของโคนม สามารถนำไปปรับใช้ในฟาร์มของตัวเองได้เป็นอย่างดี และอยากนำสิ่งเห็นไปต่อยอด โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ให้สอดคล้องกับการขยายจำนวนโคนม ขยายขนาดฟาร์ม รวมทั้งเทคโนโลยีสมาร์ทแท็กที่ใช้ติดโคนมเป็นการจับพฤติกรรมของสัตว์ ป้องกันการเจ็บป่วยของโค รวมถึงเรื่องของอาหารที่มีการจัดเก็บที่ดี ฟิล์มแร็พ ไซโล เพื่อรักษาคุณภาพของอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพที่ดี 
ทั้งนี้ ทาง ธ.ก.ส. ในฐานะหัวขบวนพร้อมผลักดันการขยายโอกาสทางธุรกิจให้สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) เพื่อส่งเสริมการสร้างเกษตรกรหัวขบวนและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยการเสริมทักษะความรู้ความสามารถ พัฒนาศักยภาพ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวม การผลิต การแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการตลาด ให้สามารถขยายธุรกิจเดิมหรือเพิ่มธุรกิจใหม่ได้ พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในทุกมิติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและเป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนต่อไป
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com