วธ.โดย สศร.ประกาศ 18 โครงการผ่านการพิจารณาได้รับจัดสรรเงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รอบสอง หนุนนำศิลปะร่วมสมัยพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ พื้นที่ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมดัน Soft Power ศิลปะร่วมสมัยของไทยสู่เวทีนานาชาติ
นางเกษร กำเนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่สศร.ได้ออกประกาศสศร. เรื่องหลักเกณฑ์การขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 โดยเปิดโอกาสให้ศิลปิน องค์กรเครือข่ายและผู้ที่ประสงค์จะสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยที่ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากสศร.รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1-31มีนาคม 2568 ขณะนี้คณะกรรมการกลั่นกรองและคัดเลือกโครงการที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้พิจารณาโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้ประกาศรายชื่อโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568
รักษาราชการแทนผอ.สศร. กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่ผ่านการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในรอบที่ 2 มีจำนวนทั้งหมด 18 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการค่าย “พัฒนาศักยภาพให้กับสมาชิกวงปล่อยแก่ประเทศไทย” เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน “14th Bali International Choral Festival 2025” ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข 2. โครงการศิลปะชุมชนเพื่อพัฒนาการสร้างแบบจำลองประติมากรรมริมฝั่งโขง โดยว่าที่ร้อยตรีสุนทร มามุกดา 3. โครงการดนตรีอีสานร่วมสมัยสู่งานดนตรี
แจ๊สระดับโลก Jakarta International Java Jazz Festival 2025 ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย โดยศิลปิน “ต้นตระกูล (TONTRAKUL)” โดยนายต้นตระกูล แก้วหย่อง 4. โครงการฟาร์มจดจำ อาร์ตสเปซ (Farm Jodjum Artspace) โดยนายกิตติ แสงแก้ว 5.โครงการสองสีแห่งเสียง คอนเสิร์ตการกุศล ไทย - มองโกเลีย โดยนายพงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 6.โครงการสืบศาสตร์ เสียง - ศิลป์ ถิ่นสุรนารี “โคราชบ้านเอ๊ง” โดยสมาคมศิษย์เก่าสุรนารีวิทยา 7.โครงการเทศกาลละครร่วมสมัยหาดใหญ่ ครั้งที่ 2 : เสน่หาพาราดีโซ่ ณ ลีการ์เด้น พลาซ่า The second HAT YAI Contemporary Performing Arts Festival : Sanehar Paradiso at Lee Garden Plaza โดยนายดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ 8.โครงการสร้างสรรค์งานศิลป์ถิ่นลุ่มน้ำโขง ประจำปี 2568 โดยนายสถิต วิเศษสัตย์
9.โครงการเรื่องเก่าเล่าใหม่ : ละครพูด “ช่างทอน” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 โดยนางสาวภัธทรา โต๊ะบุรินทร์ 10.โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยงานออกแบบกราฟิกในสภาพแวดล้อมย่านท่าวัง อ.เมือง
จ.นครศรีธรรมราช โดยนายศุภชัย แกล้วทนงค์ 11.โครงการ Book Towns หนังสือเปลี่ยนเมือง (เชียงใหม่)ด้วยมหกรรมหนังสือเล่มละบาทและเขียน เรื่องเล่า เปลี่ยนชีวิต โดยนายวรเชษฐ เขียวจันทร์ 12. โครงการเจ้าขุนทองและผองเพื่อนแบนด์ : แฮนด์ เม้ด โดยนางเกียรติสุดา ภิรมย์ 13.โครงการเคเคซีดี จูเนียร์ คอมพานี (KKCD Junior Company) คณะเต้นอีสานร่วมสมัยและการพัฒนาศาสตร์แห่งการออกแบบการเคลื่อนไหวร่างกายและดนตรีอีสานร่วมสมัย โดยนางสาวธนัชพร กิตติก้อง 14. โครงการ Prototyping a pot-tropical cinema กระบวนการทดลองสร้างต้นแบบของพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และการทดลองเชิงศิลปะ : ต้นแบบภาษาภาพหลังเขตร้อน โดยนางสาว
มนธิการ์ คำออน
15. โครงการสังเกตกาล : ร่องรอยทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของเหล่าสิ่งมีชีวิต โดยนางสาววันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร 16. โครงการการแสดงคอนเสิร์ตสำเนียงเสียงสยาม ชุดที่ 3 “เสียงประสานปักษ์ใต้” บทประพันธ์เพลงชุดสำเนียงพื้นบ้านไทยสำหรับวงเครื่องสาย (ปีที่ 3) 17.โครงการมาลีบูชา : เต้นรำ ความศรัทธา บนโลกเสมือนจริง MALI BUCHA: Dance Offering [Dance,Sound,VR/AR experience] โดยนางสาวกรกาญจน์ รุ่งสว่าง และ18.โครงการสหวิทยาการศิลป์ว่าด้วยเรื่องเวลา : ปัจฉิมบท (Epilogue : Interdisciplinary Art Project on Time)
“โครงการศิลปะร่วมสมัยที่ผ่านการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในรอบที่ 2 จากสศร.ทั้ง 18 โครงการนี้มีเป้าหมายนำศิลปะร่วมสมัยสาขาต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม การแสดงมาพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชน ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ที่ดำเนินการโครงการทั้งในแง่ของวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเกิดความรู้ ความเข้าใจในศิลปะร่วมสมัยสามารถนำความรู้ไปใช้ต่อยอดทั้งด้านการเรียน อาชีพและการดำเนินชีวิต อีกทั้งชุมชนได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ช่วยสร้างอาชีพ รายได้ ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับ ขยายความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อเผยแพร่ Soft Power ด้านศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น” นางเกษร กล่าว