นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องทราบถึง ลักษณะของดิน และธาตุอาหารในดิน ของพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสายพันธุ์ยางพาราที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และที่สำคัญคือแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ ฮอร์โมนเอทิลีน ร่วมกับเทคนิคการกรีดยางแบบหน้าสั้น และ การเจาะต้นยาง ที่จะเป็นการทำเกษตรแบบปราณีต และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้กว่า 3 เท่าจากวิธีการทำสวนยางแบบปกติ รวมถึงไม่ทำให้หน้ากรีดของต้นยางไม่เสียหาย จึงไม่จำเป็นต้องโค่นต้นยางอีกด้วย
นอกจากนี้ การบริหารจัดการสวนยางด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมี จะเป็นการสร้างสมดุลด้วยการบำรุงดินและต้นยางพาราด้วยจุลินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งจะตอบโจทย์กลุ่มตลาดใหม่ที่มีความสนใจเฉพาะด้าน หรือเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายอื่นในตลาดโดยรวม (nich market) ซึ่งการบริหารจัดการสวนยางแบบอารยเกษตรจะตอบสนองต่อกลุ่มตลาดสินค้าอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นการขยายตลาดยางพารา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย
นายสุขทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการสวนยางแบบอารยเกษตรที่ กยท. จะผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วยการบูรณาการ 3 ศาสตร์ ได้แก่ ศาสตร์สากล ที่เป็นความรู้เชิงวิชาการในการบริหารจัดการสวนยาง และเทคโนโลยี ศาสตร์ชุนชน หรือชาวบ้าน ที่เป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรท้องถิ่นสืบทอดต่อกันมา และศาสตร์พระราชา ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฏีใหม่ มาปรับใช้ เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพอีกด้วย