วันนี้ (13 พ.ย.67) ณ ห้อง115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว “แผนจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 67/68” โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว ร่วมการแถลงในครั้งนี้ด้วย
นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฤดูฝนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมและพายุ ทำให้ฝนตกกระจายตัวในหลายพื้นที่ ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อน ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 อ่าง มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก จำนวน 30 แห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล เป็นต้น อ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำพอใช้ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง อ่างเก็บน้ำปราณบุรี อ่างเก็บน้ำบางลาง และอ่างเก็บน้ำลำนางรอง และอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ภาพรวมปริมาณน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดย ณ วันที่ 1พ.ย.67 ทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันมากถึง 44,250 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3,863 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากปีที่ผ่านมาได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่
เฉพาะในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 14,992 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 3,407 ล้าน ลบ.ม. มีการวางแผนสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังไว้ประมาณ 6.47 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่ ด้วยปริมาณน้ำที่เพียงพอในปีนี้ บางพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวก่อนวันที่ 1 พ.ย. 67 ซึ่งเกษตรกรได้ใช้น้ำจากช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ทำให้สามารถปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องได้ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 0.75 ล้านไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำ อาทิ พื้นที่ทุ่งโพธิ์พระยา จังหวัดสุพรรณบุรี และทุ่งผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำใช้ได้ถึง 9,514 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 781 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเพาะปลูกข้าวนาปรังตามแผนที่วางไว้ประมาณ 0.84 ล้านไร่ ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 3,846 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 1,367 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทาน ได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 0.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.2 ล้านไร่
ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้รวม 7,375 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1,333 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกทางตอนล่างของภาคค่อนข้างน้อย แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากเดิมได้ถึง 0.06 ล้านไร่ รวมแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 1.10 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ตอนบน อาทิ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้อย่างเหมาะสม สำหรับพื้นที่ตอนล่างบางแห่ง อย่างจังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ ฝนที่ตกน้อยและปริมาณน้ำที่ลดลง ได้วางแผนจัดสรรน้ำอย่างประณีตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนับสนุนน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้งนี้
ด้านภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 2,964 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 317 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 0.47 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.09 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด แต่ในบางพื้นที่ที่ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ อาทิ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนลดลง ทำให้การเพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงตามไปด้วย
ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ที่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำไว้เบื้องต้น โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้อยู่ที่ 4,931 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 779 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ที่ 0.31 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.13 ล้านไร่ เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้ คาดการณ์ว่าจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในทุกพื้นที่ด้วยความประณีตและสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสนับสนุนทุกกิจกรรมไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ พร้อมปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลและ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สุดท้ายนี้ ขอฝากไปถึงประชาชนทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและร่วมมือกันใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราทุกคนสามารถผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งส่งต่อความสมบูรณ์สู่ฤดูกาลต่อไปได้อย่างมั่นคง