กรมชลประทาน เผยผลการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก หากแล้วเสร็จตามแผนคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนไร่ พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 88,733 บาท/ปี ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำชลประทาน พบว่า โครงการส่งน้ำฯ สามชุก ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2507 มีอายุการใช้งานกว่า 50 ปี ทำให้ระบบชลประทานมีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิม
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก มีพื้นที่ชลประทาน 320,569 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก อำเภอดอนเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และ อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง กรมชลประทาน ได้วางแผนปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาขาดเเคลนน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นายบุญฤทธิ์ จำปาเงิน กล่าวถึงผลการศึกษาโครงการศึกษา ความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ว่า ภายหลังจากกรมชลประทานมอบหมายให้ บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท สยาม-เทค กรุ๊ป จำกัด บริษัท เอสพีที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ซีพีเอส ซัลเซล จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2566 ได้เปิดเวทีชี้แจงผลการศึกษา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่หอประชุมสหกรณ์การเกษตรสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเสร็จ นั้น ได้ข้อสรุปแผนงานปรับปรุงโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและระบบคลองระบายน้ำ โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมสถานีสูบน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ทั้ง 3 สาย ปรับปรุงและซ่อมแซมคลองส่งน้ำ 171.17 กิโลเมตร สะพาน 66 แห่ง ถนนคันคลอง 136.47 กิโลเมตร อาคารประกอบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ 645 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ทำการติดตั้งระบบ loT (Internet of Things) คลองส่งน้ำ 22 แห่ง และคลองระบายน้ำ 10 แห่ง สำหรับใช้ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ
แผนการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำและบรรเทาอุทกภัย โดยการก่อสร้างคันกั้นน้ำแม่น้ำท่าจีน รวมความยาว 13.45 กิโลเมตร ปรับปรุงคันคลองระบายใหญ่สามชุก1 และ สุพรรณ3 ความยาว 14.43 กิโลเมตรขุดคลอกท้องคลองระบายใหญ่และคลองซอยที่สำคัญ ความยาว 207.25 กิโลเมตร และแผนการปรับปรุงแก้มลิงในพื้นที่ 9 แห่ง ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
นอกจากนั้นยังมีแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ อาทิเช่น ส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรับเปียกสลับแห้ง ระบบน้ำหยดสำหรับการปลูกอ้อย ระบบสปริงเกอร์สำหรับไม้ผล รวมทั้งแผนการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน
“หากปรับปรุงโครงการแล้วแล้วเสร็จตามแผนงาน คาดว่าพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้งจากปัจจุบัน 331,189 ไร่ จะเพิ่มเป็น 490,556 ไร่ หรือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินจาก 109% เป็น 161% ผลประโยชน์ทางด้านการเกษตรเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,083.97 ล้านบาท/ปี พื้นที่น้ำท่วมลดลงจาก 9,580 ไร่ เหลือเพียง 314 ไร่ หรือ ลดลง 96.72% คิดเป็นมูลค่ากว่า 64.88 ล้านบาท ที่สำคัญครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 55,120 บาท/ปี เป็น 88,733 บาท/ปี หรือ เพิ่มขึ้น 60.98% ต่อปี ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผคป.สามชุก กล่าวสรุป
นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การใช้น้ำของพี่น้องเกษตรกรในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรที่ทำนาข้าวกว่า สี่แสนไร่เศษ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ เมื่อมีโครงการปรับปรุงโครงการส่งน้ำฯ สามชุก จะทำให้เกษตรกรสามารถนำน้ำมาใช้ได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งคลองยังสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ หากมีน้ำหลากมาในช่วงฤดูน้ำหลากสามารถเป็นแก้มลิงเก็บกักน้ำไม่ให้มีน้ำท่วม เป็นจัดการการระบายน้ำให้ดีขึ้น ต้องขอบคุณกรมชลประทาน ที่มาปรับปรุง คลองระบายน้ำต่างๆ ในอำเภอสามชุกที่ช่วยให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากขึ้นตามไปด้วย
นายคม แจ่มแจ้ง ประธาน JMC โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ตัวแทนเกษตรกรผู้ใช้น้ำ กล่าวว่า เมื่อปี2562 ได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการใช้น้ำสำหรับทำอาชีพเกษตร อุปโภค บริโภค โดยเฉพาะอุปสรรคปัญหาการใช้น้ำที่ต้องมีการสื่อสาร ระหว่างภาครัฐกับเกษตรกร ที่จะต้องมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งจะช่วยจัดสรรการใช้น้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย