มกอช. กรมวิชาการเกษตร จับมือทูตเกษตร หารือศุลกากรกว่างโจวอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าเกษตรไทย

เมื่อวันที่ 4 – 5 กันยายน 2567 นางสาวรุจิรา จันทร์อร่าม ผู้อำนวยการกลุ่มระหว่างประเทศที่ 2 กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และคณะเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย นายชณาดลย์ สัตธนภัทร หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และนายนพรัตน์ บัวหอม ผู้อำนวยการกลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร พร้อมด้วยนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เข้าพบหารือ Mr.Deng Guibo รองผู้อำนวยการกองตรวจสอบกักกันสัตว์และพืช รักษาการผู้อำนวยการตรวจสอบกักกันสัตว์และพืช ศุลกากรกว่างโจว ณ นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบกักกันสินค้า รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาการตรวจพบสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับพิธีสารฯ ข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปจีน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอจัดตั้งกลไกการประสานงานระหว่างศุลกากรกว่างโจวและฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ของไทย ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรที่พบบริเวณจุดนำเข้าให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ
ในโอกาสดังกล่าว คณะได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบกักกัน ณ ท่าเรือหนานซา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำจูเจียงทางตอนใต้ของนครกว่างโจว มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในแต่ละปีมีการนำเข้าผลไม้มากกว่าสามแสนตัน โดยมีการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากไทย ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าว ลำไย และมังคุด ซึ่งส่วนใหญ่ขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังเป็นหลัก ด้วยระบบการตรวจสอบกักกันที่ทันสมัยมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า ทำให้สินค้าที่ส่งมายังท่าเรือหนานซาสามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ของจีนได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ คณะได้เข้าพบผู้บริหารตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกว่างโจว ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยหารือและรับทราบสถานการณ์และอุปสรรคในการนำเข้าผลไม้จากไทย แม้ว่าผลไม้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีน แต่ในปัจจุบันพบว่ามีคู่แข่งในตลาดผลไม้เมืองร้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องควบคุมดูแลให้ผลไม้มีคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อสามารถแข่งขันในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืน
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com