“กรมเจ้าท่า” เตรียมคิกออฟจัดงานวันทางทะเลโลก 25 ก.ย.นี้ โชว์ศักยภาพขนส่งทางทะเลสู่มาตรฐานความปลอดภัยที่ยั่งยืน

“กรมเจ้าท่า” เตรียมคิกออฟวันทางทะเลโลก 25 กันยายนนี้ เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มศักยภาพการบริหารความปลอดภัยเส้นทางขนส่งทางทะเล - ท่าเรือไทย ตามมาตรฐาน IMO ดึงเทคโนโลยี นวัตกรรมการเดินเรือ เพื่อการบริหารจัดการเส้นทางสัญจรทางทะเล ท่าเรือ และบุคลากรประจำเรือ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง รองรับปริมาณการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไทย เข้มข้นมาตรฐานความปลอดภัยสู่สากล มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางทะเลสู่ความยั่งยืน
🟢 นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ภายใต้คณะอนุกรรมการจัดงานวันทางทะเลโลก เตรียมจัดงานวันทางทะเลโลก ประจำปี 2567 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายนนี้ ภายใต้หัวข้อ “Navigating the Future Safety First : เดินปลอดภัย ก้าวไกลสู่อนาคต” ซึ่งเป็นหัวข้อหลักหรือธีมในการจัดกิจกรรมในปีนี้ โดยได้รับเกียรติ จาก นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมกิจกรรมในงานดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางที่มีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยทั้งในด้านการออกฎหมาย การแก้ไขระเบียบของกรม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรประจำเรือ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ International Maritime Organization (IMO) ซึ่งเป็นทบวงการชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กำหนดให้สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนของทุกปีเป็นวันทางทะเลโลก หรือ World Maritime Day และกำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองวันทางทะเลโลก
ทั้งนี้ไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานภาคการขนส่งทางทะเลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเดินเรือที่มีความปลอดภัยสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาเทคโนโลยีและอนาคตของการเดินเรือในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางทะเล ตามมาตรฐาน IMO ทั้งในด้านการพัฒนาใช้เรืออัตโนมัติ (Maritime Autonous Surface Ships: MASS), ระบบดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ และ การใช้เชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuel) ที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนระบบการค้าระหว่างประเทศทางทะเลให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) IMO โดยเฉพาะในด้านพลังงานสะอาด (SDG 7), การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG 8), การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9),การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) และการอนุรักษ์มหาสมุทร (SDG 14)

กรมเจ้าท่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล ภายใต้กฎหมายเดินเรือและการปฏิบัติตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขนส่งทางทะเล และท่าเรือที่มีประสิทธิภาพ โดยเน้นความปลอดภัยสูงสุดซึ่งบุคลากรประจำเรือ บุคลากรในท่าเรือ ต้องผ่านการฝึกอบรม การรักษาความปลอดภัยในท่าเรือ รวมทั้งการแก้ปัญหาภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ทั้งการก่อการร้าย การลดการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ภายใต้มาตรฐาน IMO ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและแผนงานยุทธศาสตร์ของกรมเจ้าท่า และสอดคล้องกับหัวข้อหลักในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเลที่กรมเจ้าท่ารับผิดชอบในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเรือที่จดทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงการออกใบอนุญาตให้กับเรือโดยสาร และเรือพาณิชย์ ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยระหว่างประเทศ แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเชื้อเพลิงทางเลือกในภาคการขนส่งทางทะเล เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ (MARPOL) ภาคผนวกที่ 6 ว่าด้วยการป้องกันมลพิษทางอากาศจากเรือ ภายในปี 2569 รวมถึงการพัฒนาท่าเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำระบบพลังงานสะอาดมาใช้
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติท่าเรือในประเทศไทย เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในเส้นทางสัญจร และการขนส่งทางทะเล โดยนำระบบ Port Communica-tion System (PCS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในท่าเรือ เพื่ออำนวยความสะดวกและจัดการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ที่จะสามารถเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในด้านการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ในการให้บริการของระบบท่าเรือไทย ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมอำนวยความสะดวก เข้า- ออกท่าเรือ ลดการเสียเวลา รวมถึงการกำกับดูแลความปลอดภัยของคนประจำเรือ ที่มีการจัดหลักสูตรอบรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรฐานของ IMO เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนประจำเรือ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่างๆ ในภาคการขนส่งทางทะเล รวมถึงมีการลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการด้านเอกสารและการรับรองต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมวันทางทะเลโลก ประจำปี 2567 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25 กันยายน นี้ ณ ห้องสุวรรณภูมิแกรนด์บอลรูม โรงแรม โนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ต โดยภายในงาน มีเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ Navigating the future : Safety first รวมทั้งการจัดบูธนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จุดจัดแสดงโดรน (จากบริษัทโดรน) บริษัท ซีทโบ๊ต จำกัด สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยเทคโนโลยีทางทะเลแห่งเอเชีย โรงเรียนสุภาพบุรุษเดินเรือ (GM) สมาคมต่อเรือและซ่อมเรือไทย บริษัท เอ. แอนด์ มารีน (ไทย) จำกัด บริษัท แซส เทค โซลูชั่น จำกัด บริษัท อิมพีเรียลไฟร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ผู้สนใจฯ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเจ้าท่า โทร 02-2331311-8 ต่อ 9928
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com