สศท.3 ติดตามสถานการณ์ ไก่เนื้อ GAP จังหวัดอุดรธานี ยกระดับการผลิตไก่เนื้อปลอดภัยสู่การแข่งขันตลาดโลก

นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย (Good Agricultural Practices : GAP) ปี 2567 ในสินค้าไก่เนื้อจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้มีฐานข้อมูลสินค้าเกษตรที่สำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปวิเคราะห์ เพื่อกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมพัฒนา และยกระดับการผลิตไก่เนื้อปลอดภัย รวมไปถึงการวางแผนการผลิต และตลาดที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
  
สศท.3 ติดตามสถานการณ์การผลิตไก่เนื้อที่ได้รับมาตรฐาน GAP จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พบว่า มีผู้เลี้ยงได้รับมาตรฐาน GAP 30 ราย แหล่งผลิตสำคัญอยู่ในอำเภอบ้านผือ และกระจายอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองวัวซอ อำเภอหนองหาน อำเภอโนนสะอาด และอำเภอเพ็ญ เกษตรกรเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็ก ปริมาณ 8,500 – 10,000 ตัว/ฟาร์ม ส่วนฟาร์มขนาดกลาง ปริมาณ 10,800 – 25,920 ตัว/ฟาร์ม เลี้ยงในโรงเรือนแบบปิด หรือ โรงเรือนระบบอีแว๊ป (Evaporative cooling system) ซึ่งภายในระยะเวลา 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 4 – 5 รุ่น ระยะเวลา การเลี้ยงแต่ละรุ่นอยู่ที่ 26 - 46 วัน โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานีเข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานฟาร์ม GAP
  
สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่ได้รับมาตรฐาน GAP มีการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) กับบริษัทเอกชน ในการซื้อขายผลผลิต ประเภทการเลี้ยงเป็นแบบประกันราคา โดยบริษัทเป็นผู้มารับผลผลิตทั้งหมดที่ฟาร์ม ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2567 ราคาที่เกษตรกรขายได้หน้าฟาร์ม แบ่งตามขนาด คือ ไก่เนื้อขนาดเล็ก 1.10 - 1.30 กิโลกรัม/ตัว ระยะเวลาการเลี้ยง 26 - 30 วัน ราคาอยู่ที่ 47.55 - 50 บาท/กิโลกรัม ไก่เนื้อขนาดกลาง 1.31 – 2.50 กิโลกรัม/ตัว ระยะเวลาการเลี้ยง 31 - 39 วัน ราคาอยู่ที่ 40.75 - 46.40 บาท/กิโลกรัม และไก่เนื้อขนาดใหญ่ 2.51 กิโลกรัม/ตัว ขึ้นไป ระยะเวลาการเลี้ยง 40 – 46 ราคาอยู่ที่ 41.00 - 41.40 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ ปริมาณความต้องการไก่เนื้อขนาดใหญ่ 2.51 กิโลกรัมขึ้นไป มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนำไปผลิตเป็นไก่ชิ้นส่วนและไก่แช่แข็งเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้ขนาดของไก่เนื้อตามมาตรฐานที่กำหนด
  
โดยในปี 2567 คาดการณ์จำนวนไก่เนื้อ GAP ลดลงร้อยละ 4.55 เนื่องจากต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าลูกไก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องปั่นไฟ ประกอบกับบริษัทที่เกษตรกรทำ Contract Farming ปรับรูปแบบการเลี้ยงใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยการเพิ่มระยะเวลาในการพักเล้าเป็น 40 วัน ส่งผลให้ผู้เลี้ยงต้องลดจำนวนรุ่นการเลี้ยงลง และเพิ่มสัดส่วนการเลี้ยงไก่ใหญ่ที่ขนาด 2.51 กิโลกรัมขึ้นไป เพื่อให้ปริมาณไก่สมดุลขนาดโรงเรือน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานผลผลิตเกษตรกรควรเฝ้าระวังและดูแลไก่เนื้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงกกลูกไก่ และช่วงก่อนจับขาย 1 สัปดาห์ และต้องจัดหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำรอง หากพบปัญหาต้องรีบแจ้งบริษัทหรือสำนักงานปศุสัตว์ให้ทราบโดยด่วน
 
“ปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศและตลาดส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในตลาดเฉพาะและสร้างแบรนด์ไก่เนื้อ GAP ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งการสำรวจข้อมูลไก่เนื้อในครั้งนี้ เป็นการสำรวจภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนพัฒนาร่วมกันทั้งฝ่ายเกษตรกร บริษัทคู่สัญญา และภาครัฐ เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้บรรลุเป้าหมาย คือ อัตราการขยายตัวของมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัย ขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2566 - 2570 ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) ประเด็น การเกษตร แผนย่อยเกษตรปลอดภัย ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันในตลาดโลก สร้างความตระหนักรู้ของผู้ผลิต และผู้บริโภค ถึงความสำคัญของเกษตรปลอดภัย เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์ผลิตไก่เนื้อ GAP สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี โทร 0 4222 2984 หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 โทร 0 4229 2557 อีเมล zone3@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.3 กล่าว
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com