ธ.ก.ส. เดินหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ตามมติครม. เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตได้อย่างยั่งยืน โดยให้ความคุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืช วงเงินคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทุกราย ไร่ละ 65 - 69 บาท กรณีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดย ธ.ก.ส. ร่วมอุดหนุนให้ฟรี วางเป้าหมายพื้นที่การเกษตรกว่า 21 ล้านไร่ และเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์กว่า 600,000 ราย ทั่วประเทศ ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการและเลือกซื้อประกันภัยด้วยตนเองได้ง่ายๆ ทุกที่ ทุกเวลาผ่านแอปฯ A Insure หรือติดต่อได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นการสานต่อความช่วยเหลือเกษตรกรไทย ด้วยการใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วม/ฝนตกหนัก ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ/พายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว/น้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และช้างป่า วงเงินคุ้มครอง จำนวน 1,190 บาทต่อไร่ และกรณีเกิดภัยศัตรูพืช/โรคระบาด วงเงินคุ้มครอง 595 บาทต่อไร่ เป้าหมายพื้นที่กว่า 21 ล้านไร่ เกษตรกรผู้รับประโยชน์กว่า 600,000 ราย
สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งปรับปรุงข้อมูลเกษตรกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ทบก.) ในปีการผลิต 2567/68 โดยการประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีสถานะหนี้ปกติไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนค่าเบี้ยประกันให้ (พร้อมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ ธ.ก.ส. ร่วมอุดหนุนให้ฟรี สูงสุดไม่เกิน 30 ไร่ต่อราย ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วไป รัฐบาลสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยง ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง และพื้นที่ความเสี่ยงสูง (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทุกราย ตามพื้นที่ความเสี่ยง ตั้งแต่ 65 - 69 บาทต่อไร่ (พร้อมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถจัดทำประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) ในอัตรา 27 - 110 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่ความเสี่ยง โดยจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นอีก 240 บาทต่อไร่ กรณีภัยศัตรูพืชและโรคระบาดคุ้มครองเพิ่ม 120 บาทต่อไร่
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีเกิดภัยพิบัติและพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเขตภัยพิบัติฯ ทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรผู้ทำประกันสามารถแจ้งความเสียหายที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะรวบรวมข้อมูลความเสียหายและส่งไปยังสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อประเมินความเสียหาย และเมื่อตรวจสอบครบถ้วนแล้ว สมาคมฯ จะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขผ่านระบบ ธ.ก.ส. ภายใน 15 วัน โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรโดยตรง นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถบันทึกข้อมูล ความเสียหายผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” เพื่อให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยใช้พิจารณาให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ภัยพิบัตินอกเขตประกาศตามเกณฑ์เพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2565 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีไปแล้วกว่า 1.9 ล้านราย พื้นที่รวมกว่า 26.7 ล้านไร่ และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยข้าวนาปีให้เกษตรกรไปแล้ว 137,823 ราย คิดเป็นพื้นที่การเกษตรกว่า 1.4 ล้านไร่
ทั้งนี้ การประกันภัยด้านการเกษตรนั้น เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการผลิตและสามารถช่วยเกษตรกรในการบริหารความเสี่ยงด้านการผลิตได้เป็นอย่างดี ในโอกาสนี้ ธ.ก.ส. ขอเชิญชวนเกษตรกรทั่วไปและลูกค้า ธ.ก.ส. เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 (ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567) และสามารถเลือกซื้อประกันภัยอื่นๆ ที่ให้ความคุ้มครองได้อีกมากมายผ่านแอปพลิเคชัน A Insure พร้อมชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็วบนแอปพลิเคชัน BAAC Mobile หรือ Mobile banking ธนาคารอื่นๆ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ www.baac.or.th หรือ Call Center 02 555 0555