สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จัดพิธีมอบรางวัล โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567

นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่ากระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนสู่การเป็นเมืองแห่งศิลปะมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันโดยได้คัดเลือกเมืองแห่งศิลปะ จำนวน 3 เมือง ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่นำร่องโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่นำร่องทั้ง 3 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้สามารถนำคุณค่าทางวัฒนธรรมของแต่ละเมืองมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดกิจกรรมประกวดข้อเสนอโครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ ปี 2567 โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อดำเนินการในจังหวัดกระบี่ เชียงราย และนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่เมืองแห่งศิลปะ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้สนใจส่งโครงการเข้าร่วมการประกวดจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 61 โครงการ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ จำนวน 15 โครงการ จังหวัดเชียงราย จำนวน 17 โครงการ และจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 29 โครงการ 
คณะกรรมการการพัฒนาศักยภาพเมืองแห่งศิลปะ ซึ่งประกอบด้วย คณะผู้บริหารสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว และนวัตกรรม และหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจากพื้นที่เมืองแห่งศิลปะทั้ง 3 จังหวัด ได้พิจารณาตัดสินฯ โดยเน้นประเด็นการตอบสนองการพัฒนาเมืองแห่งศิลปะ การเกิดผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ โดยในรอบคัดเลือกมีโครงการที่ได้รับการพิจารณาจังหวัดละ 8 โครงการ รวมทั้งสิ้น 24 โครงการ และในรอบตัดสินมีผู้เสนอโครงการที่ได้รับรางวัล จำนวนทั้งสิ้นจำนวน 18 ราย ได้แก่ 
รางวัลดีเด่น จังหวัดละ 1 รางวัล รวม 3 รางวัล ได้รับโล่เกียรติยศ และเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลดีเด่นจะได้รับการสนับสนุนการสร้างสรรค์งานตามข้อเสนอโครงการ (ภายในวงเงินงบประมาณ 500,000 บาท) ดังนี้
จังหวัดกระบี่ โครงการศาสตร์ศิลป์โนรา มรดกทางภูมิปัญญาจากงาน Local สู่ เลอค่าร่วมสมัย โดย นายวิทวัส ค้าของ
จังหวัดเชียงราย โครงการทุกที่ คือแกลลอรี พัฒนาสถานประกอบการในจังหวัดเชียงรายให้เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย ไปจนถึงโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก กิจกรรมเวิร์คช็อปด้านศิลปะและที่พำนักศิลปินอย่างยั่งยืน โดย นางสาวกีรติ วุฒิสกุลชัย จังหวัดนครราชสีมา โครงการศิลป์ ดิน ปั้น สร้างสรรค์มูลค่าผลผลิตทางวัฒนธรรม โดยนายนิมิตร พิพิธกุล
รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล รวม 15 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวน 10,000 บาท จังหวัดกระบี่ ได้แก่ โครงการนิทรรศการ จิตรกรรม ตำนาน สืบสานเรือหัวโทง โดย นางอมรรัตน์ ลอเนอร์ โครงการศิลปะเพื่อมวลชน โดย นายคีตการ แก้วเล็ก โครงการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยริมเขื่อนหน้าเมืองกระบี่ : 3ART in Krabi โดย นายธรรมดิวิชย์ ศรีรุ้ง โครงการกระบี่อาร์ตวีค 2 : ศิลป์เพื่อโลก (Krabi Art Week 2 : Art For Earth) โดย นายพัฒนศิลป์ ชูทอง โครงการเลนิยม โดย นายกฤษฎา กันณรงค์
จังหวัดเชียงราย ได้แก่ โครงการแม่ลาว 6.3 โดย กลุ่มศิลปินแม่ลาว โครงการบ่ม เบลนด์ ฟื้นฟูพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ สโมสรสำนักงานยาสูบเมืองเก่าเชียงราย โดย กลุ่ม Blend โครงการออกแบบเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย “กาดก้อมเมืองแก้วในม่านหมอก(ควัน)” โดย กลุ่ม Chiang Rai Creative Common โครงการสุดยอดบ้านศิลปินถิ่นเชียงราย...สู่เมืองแห่งศิลปะยั่งยืน โดย สมาคมขัวศิลปะ และโครงการเชียงรายฟิล์มแลป โดย นางนภกานต์ บุณฑริก
จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ โครงการแรงบันดาลใจจากภาษาโคราชสู่ออกแบบคาแรกเตอร์อาร์ตทอยด้วยวัสดุหัตถกรรมงานหล่อหินทรายภูมิปัญญาบ้านหนองโสน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับครูสอนศิลปะ โดย ผศ.เกรียงไกร ดวงขจร โครงการการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย “ศิลป์อีสาน” ครั้งที่ ๒ หัวข้อ “ภาพลักษณ์โคราช ภาพลักษณ์อีสาน” โดย รศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ โครงการการแปรสีธรรมชาติจากขยะดอกไม้สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อต่อยอดทักษะทางอาชีพและส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในจังหวัดนครราชสีมา โดย นางสาวสิรินภา มิ่งขวัญ โครงการอะซะจั๋นพิมาย : กำเนิดผู้สรรค์ สร้างผู้เสพ โดย ภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย โครงการนิทรรศการเล่าเรื่องแมวโคราชด้วยไฟดิจิตอล 3D Mapping Projection & Lighting โดย นางอิญชญา คำภาหล้า
นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า โครงการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งศิลปะปี 2567 จะเป็นแบบอย่างของการขับเคลื่อน Soft Power ของเมืองไปสู่การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน  
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com