ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ได้ดำเนินการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณต่อขบวนการสหกรณ์ไทยอย่างอเนกอนันต์ อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจและสักการะบูชาของขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์และบุคคลทั่วไป โดยประดิษฐาน ณ สำนักงาน ชสอ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก หม่อมราชวงศ์ดัจฉราพิมล รัชนี เป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ความเป็นมาของการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย สืบเนื่องจากคณะกรรมการดำเนินการ ของ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ชุดที่ 51 โดยมี รองศาสตราจารย์พิเศษ พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ เป็นประธานกรรมการ ได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่มีต่อการสหกรณ์ไทย นับเป็นพระอนุสาวรีย์ แห่งที่ 20 ของพระองค์ท่าน
จึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดสร้างพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงริเริ่มทดลอง และจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 และทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ขยายการสหกรณ์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติมาจนทุกวันนี้
ชสอ. จึงได้จัดหางบประมาณ ในการจัดสร้างพร้อมทั้งเชิญชวนสหกรณ์สมาชิกและผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสมทบทุนจัดสร้างพระอนุสาวรีย์พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทยขึ้น โดยประดิษฐานไว้บริเวณด้านหน้าสำนักงาน ชสอ.ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของขบวนการสหกรณ์ โดยหล่อองค์ด้วยโลหะทองสำริด ขนาดสองเท่าพระองค์จริง ขนาดความสูง 3.50 เมตร ฉลองพระองค์เต็มพระยศในลักษณะท่าประทับยืนบนแท่นฐานพระอนุสาวรีย์
ทั้งนี้ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ยังได้เปิดหอพระประวัติ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และน้อมรำลึกถึงพระบิดาแห่งการสหกรณ์ ที่ทรงให้มีการจัดตั้ง สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ เป็นสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459
ภายในหอประวัติมีการจัดแสดงนิทรรศการ หนังสือส่วนพระองค์ เช่น ปฤษณาเถลิงศก นิทานพระนลคำฉันท์ สามเรื่องเอก สามกรุง นิทานเวตาล รวมหนังสือ น.ม.ส. และยังได้นำ VR Cooperatives tour ระบบ Vr โดยจำลองการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงเพื่อให้ผู้เยี่ยมชม สามารถเข้าถึงแห่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์สหกรณ์ได้ทุกที่ ทุกเวลาอีกด้วย