กรมชลประทาน เผยโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พร้อมการแผนปรับระบบคลุมพื้นที่กว่า 2.7 ล้านไร่ ทั้งส่งน้ำ-ระบายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชนชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2506 และก่อสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2533 ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด แบ่งพื้นที่เป็น 10 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ฝั่งขวา 2 โครงการ ฝั่งซ้าย 8 โครงการ พื้นที่ชลประทานรวมประมาณ 3.2 ล้านไร่ และจากการใช้งานโครงการมาแล้วหลายสิบปี ทำให้บริบทการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาคารชลประทานต่างๆ ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างเต็มที่ กรมชลประทานจึงมอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ทำการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย 8 โครงการ และโครงการท่าล้อ-อู่ทอง โดยพื้นที่ศึกษาปรับปรุงโครงการรวมกว่า 2.7 ล้านไร่ ด้วยระยะเวลาการศึกษา 720 วัน
โดยผลการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพนมทวน ปัญหาหลักคือน้ำไหลไม่ถึงปลายคลองหรือได้รับน้ำไม่ทันกับรอบเวรการส่งน้ำ เนื่องจากระบบคลองส่งน้ำที่ค่อนข้างยาว การปรับปรุงที่สำคัญ เช่น ขยายหน้าตัดคลอง ก่อสร้างระบบชลประทานแบบสำรองน้ำกลางคืน ปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปรับปรุงและขุดลอกคลองระบายน้ำ 2.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสองพี่น้อง พบปัญหาหลัก คือปัญหาน้ำท่วมบ่อย เฉลี่ยปีละกว่า 86,000 ไร่ ไม่มีคันกั้นน้ำริมคลองสองพี่น้อง คันคลองระบายน้ำต่ำ ไม่สามารถระบายน้ำช่วงน้ำหลากได้เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำนครชัยศรีสูง การปรับปรุงที่สำคัญ เช่น ก่อสร้างคันกั้นน้ำฝั่งขวาริมคลองสองพี่น้อง การก่อสร้างปรับปรุงอาคารบังคับน้ำและระบบสูบระบายน้ำริมแม่น้ำนครชัยศรี 3.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน เป็นโครงการที่มีปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด เฉลี่ยปีละกว่า 126,000 ไร่ คันกั้นน้ำริมแม่น้ำนครชัยศรีไม่สมบูรณ์และมีระดับต่ำ ไม่สามารถระบายน้ำได้ช่วงน้ำหลาก เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำนครชัยศรีสูง ส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง การปรับปรุงที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงโดยก่อสร้างคันกั้นน้ำให้สมบูรณ์ ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและระบบสูบระบายน้ำริมแม่น้ำนครชัยศรี ปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบที่ส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง 4.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากำแพงแสน พบปัญหาปลายคลองส่งน้ำส่วนใหญ่ตัน ไม่เชื่อมกับคลองระบายน้ำ ไม่มีอาคารบังคับน้ำปากคลอง1ขวา-1ซ้าย-5ซ้าย , คลอง 4ซ้ายส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง และปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มติดกับแม่น้ำนครชัยศรี ทำการปรับปรุงโดยปรับปรุงคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำและอาคารประกอบ เสริมระดับคันคลองระบายน้ำและก่อสร้างระบบสูบระบายน้ำริมแม่น้ำนครชัยศรี
5.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม พบปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำท่าจีน และบริเวณชุมชนเมืองนครปฐม การขาดแคลนน้ำชลประทานบริเวณคลองจินดาในปีที่น้ำเค็มรุกตัวสูงในแม่น้ำท่าจีน คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายยังเป็นคลองดินบางช่วง และดาดคอนกรีตชำรุดบางช่วง เป็นต้น การปรับปรุงที่สำคัญ เช่น ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและระบบสูบระบายน้ำปากคลองระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงระบบส่งน้ำเพื่อนำน้ำจืดไปให้พื้นที่คลองจินดาช่วงน้ำเค็มรุกตัวสูงในแม่น้ำท่าจีน การปรับปรุงและซ่อมแซมคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย 6.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครชุม พบปัญหาการกระจายน้ำไม่ทั่วถึง ปัญหาน้ำเสียในคลอง ที่เกิดจากชุมชนเมืองและจากการทำปศุสัตว์ในพื้นที่โครงการ และปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากทางระบายน้ำเดิมถูกบุกรุก แนวทางแก้ไขที่สำคัญ เช่น เพิ่มระดับน้ำในคลองให้สูงขึ้น ขยายหน้าตัดคลอง ก่อสร้างระบบชลประทานแบบสำรองน้ำกลางคืน ปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ ขุดลอกบ่อยืมข้างคลอง 7.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย ประสบปัญหาการส่งน้ำไปปลายคลองได้ปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ เนื่องจากคลองส่งน้ำ 11L-LMC มีผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรและผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาค ปลายคลองส่งน้ำเป็นคลองดินมีการรั่วซึมสูงและมีวัชพืชปกคลุมทำให้น้ำไหลไม่สะดวก แนวทางแก้ไขที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงคลองส่งน้ำ ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ก่อสร้างประตูระบายน้ำ ปรับปรุงคลองระบายน้ำรางเตาอิฐ
8.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก พบปัญหาอาคารควบคุมน้ำชำรุด ทำให้ไม่สามารถควบคุมการไหลของน้ำในโครงการทั้งระบบได้ สภาพท้องคลองสูงต่ำไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การรุกตัวของน้ำเค็ม การปล่อยน้ำเสียจากกิจกรรมการทำประมงลงสู่คลองระบายน้ำ การปรับปรุงที่สำคัญ เช่นก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ ขุดลอกคลอง และสำหรับโครงการท่าล้อ-อู่ทอง จากคลองท่าล้อ-อู่ทอง มีแนวกีดขวางการระบายน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและปลายคลองไม่เชื่อมกับคลองระบายน้ำ ระบบสูบน้ำและส่งน้ำชลประทานชำรุดเสียหาย และยังก่อสร้างไม่ครอบคลุม การปรับปรุงที่สำคัญ เช่น การปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมริมและปลายคลองท่าล้อ-อู่ทอง ปรับปรุงซ่อมแซมและขยายระบบสูบและส่งน้ำชลประทาน รวมทั้งพัฒนาระบบสูบน้ำชลประทานด้วยไฟฟ้าที่มีศักยภาพอีกประมาณกว่า 84,000 ไร่
นายสุรชาติ กล่าวว่า ว่าโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้ายทั้ง 8 โครงการ และโครงการท่าล้อ-อู่ทอง ได้รับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการตลอดระยะเวลาการศึกษา รวมประชุมรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งที่ 4 อยู่ในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากำแพงแสน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม โดยผลการศึกษามีความเหมาะสมตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ซึ่งกรมชลประทานจะนำผลการศึกษานี้ไปดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์
นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า การปรับปรุงระบบชลประทานแม่กลองใหญ่ฝั่งซ้าย จะช่วยป้องกันน้ำท่วม และช่วยเสริมระบบส่งน้ำ เกษตรกรจะได้ผลประโยชน์จากการใช้น้ำได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะประะตูระบายน้ำคลองจินดา ที่ช่วยบังคับน้ำไม่ให้น้ำทะเลหนุน ทำให้สวนผัก สวนผลไม้ ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทางกรมชลประทานได้เข้ามาดูแลศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงระบบชลประทานจะทำให้การจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับพี่น้องชาวนครปฐม รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย