สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัด เสวนา หัวข้อ “ ชวนคิด ชวนคุย ดอกเบี้ยเงินกู้ 4.75 ทำได้จริงหรือ ” เชิญสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีผลประกอบการดีเด่น มีผลิตภัณฑ์เงินฝากและเสถียรภาพทางด้านการเงิน กว่า 10 สหกรณ์มาสร้างความมั่นใจในการลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 4.75 เป็นแบบอย่างให้กับสหกรณ์ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถสนองนโยบายภาครัฐได้หรือไม่
ซึ่งในการเสวนามีหลายสหกรณ์ที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้มาก่อนที่จะมีนโยบายของรัฐบาล อาทิ สอ.ครูนครศรีธรรมราช,สอ.ครูสระบุรี และสอ.ครูปทุมธานี การจัดเสวนาชวนคิด ชวนคุยครั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งระบบ โดยมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. และ ดร.เฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ นักสหกรณ์แห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร และนายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการฯให้การต้อนรับผู้แทนสหกรณ์สหกรณ์ออมทรัพย์ กว่า 100 คน ที่เข้าร่วม ณ สันนิบาตสหกรณ์ฯและผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อแสดงความคิดเห็น ในประเด็น 1. ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ คงเหลือ 4.75 สามารถทำได้จริงหรือไม่ 2.กำหนดเงินเหลือดำรงชีพไม่น้อยกว่า 30 %หลังจากหักหนี้ 3. ขยายงวดการผ่อนชำระหนี้ถึงอายุ 75 ปี และ 4. การสนับสนุน Soft Loan ของภาครัฐกับขบวนการสหกรณ์
นายปรเมศวร์ เปิดเผยว่า การจัดเสวนา ในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน รวมถึง ปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยพบว่าสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงเผชิญปัญหาหนี้สินมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกาศแนวทางแก้ไข ขอความร่วมมือให้สหกรณ์กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี รวมทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกไปจนถึงอายุ 75 ปี รวมทั้งให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินยังชีพคงเหลือหลังหักส่งชำระหนี้อย่างน้อยร้อยละ 30 ในเรื่องดังกล่าวสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศสะท้อนความคิดเห็นหลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ทาง สสท. ในฐานะหัวขบวนของสหกรณ์ทั่วประเทศจึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น, แนวทางดำเนินการจากสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ อย่างไรก็ตามในเวทีเสวนาเปิดกว้างรับฟังปัญหา อุปสรรคของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ไม่สามารถดำเนินการลดดอกเบี้ยเงินกู้ 4.75 เพื่อหาทางออกร่วมกัน นำปัญหา/ข้อเสนอแนะที่ได้ไปกำหนดแนวทางการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ อย่างตรงจุดและส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป