วันที่ 15 มกราคม 2567 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) จัดสัมมนา ตอบ ข้อสงสัย ทำไมต้องแก้หนี้คนสหกรณ์ โดยมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษาฯ สสท. และนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สสท. เป็นวิทยากรในการสัมมนา ,นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ กล่าวให้การต้อนรับสหกรณ์ผู้ร่วมสัมมนา ณ สันนิบาตสหกรณ์ฯและผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกว่า 100 คนเพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกัน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลได้มีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน รวมถึงของภาคสหกรณ์ โดยมอบหมายให้ ตนในฐานะประธานกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่นกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสันนิบาตสหกรณ์ฯ ร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยพบว่าสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงเผชิญปัญหาหนี้สินมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้ประจำซึ่งเป็นบุคลากรของหน่วยงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ผ่านเงินกู้สวัสดิการ เพื่อช่วยเหลือให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินได้ต่อเดือนหลังหักหนี้คงเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งเปิดเผยถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจนครบถ้วนจึงมอบหมายให้ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับปรุง กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบ 2. ให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้เพื่อสวัสดิการแก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ตามแต่กรณี เพื่อพิจารณาการดำเนินการลดภาระทางการเงินของลูกหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ของตนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นโดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ และรูปแบบการชำระหนี้จากลูกหนี้,การกำหนดค่างวดเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ และ การใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็นซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ
ด้านนายนิรันดร์ มูลธิดา เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้ ประกอบด้วย 1)ให้สหกรณ์กำหนดโครงการพิเศษ มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี 2)ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ไปจนถึงอายุ 75 ปี 3)หลักเกณฑ์ในการควบคุมยอดหนี้ ให้สหกรณ์ผู้พิจารณาเงินกู้คำนึงถึงภาระหนี้สินที่สมาชิกต้องชำระให้แก่สินเชื่อสวัสดิการกับสถาบันการเงินอื่นด้วย เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีเงินได้รายเดือนคงเหลือหลังหักส่งชำระหนี้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของเงินได้รายเดือน 4) หลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้ สหกรณ์สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ผ่อนชำระเงินกู้เฉพาะส่วนที่เกินกว่าทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกถืออยู่ และ ก่อนการดำเนินโครงการฯ ให้คณะกรรมการฯสหกรณ์ พิจารณาถึงสภาพคล่องของสหกรณ์ การจ่ายหนี้และภาระผูกพันคืนให้กับเจ้าหนี้ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้รายอื่นของสหกรณ์ พร้อมทั้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์มีมติให้จัดโครงการดังกล่าว
นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ เปิดเผย ว่า ในภาคสหกรณ์โดยเฉพาะ สหกรณ์ออมทรัพย์ทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงินคล้ายธนาคาร และส่วนใหญ่เป็นออมทรัพย์ในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งหน่วยงานสามารถหักชำระหนี้สมาชิกจากเงินเดือน ปัจจุบันข้าราชการสมาชิกสหกรณ์มีปัญหาหนี้สินจำนวนมากส่งผลต่อการดำรงชีพเนื่องจากเงินได้หลักหักหนี้ไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงบางรายไม่สามารถชำระหนี้ วันนี้ นับเป็นความโชคดีที่รัฐบาลให้ความใส่ใจหาแนวทางช่วยเหลือ พร้อมทั้งกล่าวว่า สหกรณ์เป็นองค์กรที่ต้องช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกโดยต้องจัดกลุ่มให้ชัดเจน เช่นกลุ่มที่หนี้กำลังจะเป็น NPL ,กลุ่มที่เงินเดือนไม่เหลือพอจะดำรงชีวิต รวมถึงกลุ่มที่ไม่มีหนี้สิน สหกรณ์ต้องแก้ไขให้เกิดความสมดุลกับทุกกลุ่มเพราะเป็นสมาชิกทั้งหมด
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม กล่าวในฐานะประธาน สันนิบาตสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นหัวขบวนของสหกรณ์ทั่วประเทศและได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้ ว่า พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ และช่วยผลักดันไม่ว่าจะเป็นการ ลดดอกเบี้ย กำหนดอัตราเงินปันผลในเพดานที่เหมาะสม ขยายอายุการชำระหนี้ รวมทั้ง การทำความเข้าใจกับสหกรณ์เป็นสิ่งจำเป็น จึงกำหนดจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้สหกรณ์ได้มีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนนโยบาย รับฟังแนวทางของรัฐบาล ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและมีเป้าหมายร่วมกัน เสนอปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินภาคสหกรณ์รัฐบาลจะได้นำปัญหาดังกล่าวมากำหนดแนวทางการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้ อย่างตรงจุดและสำเร็จลุล่วงตามนโยบายและส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น