ชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย ช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและเข้าถึงน้ำในช่วงฤดูแล้ง

กรมชลประทาน ศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จ.หนองคาย 10 กิจกรรม เพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 39.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดพื้นที่น้ำท่วมกว่า 14,956 ไร่ แก้ปัญหาช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและเข้าถึงน้ำในช่วงฤดูแล้ง


นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตามนโยบายที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานของโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาโครงการที่ก่อสร้างมาเป็นเวลานานทั่วประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อให้ประหยัดน้ำและทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งพื้นที่ห้วยโมงมักประสบปัญหาอุทกภัยอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงสูง และในฤดูร้อนก็จะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาช่วยเหลือเกษตรทุกปี ประมาณ 8.42 ล้านลูกบาศก์เมตร


โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2530 มีอายุมากกว่า 30 ปีแล้ว แม้ที่ผ่านมากรมชลประทานจะสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมทุกปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การส่งน้ำและระบายน้ำมีประสิทธิภาพ เพราะแนวท่อน้ำอาจจะไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ที่วัสดุเก่าและมีการรั่วซึม เป็นต้น

“เราต้องการเพิ่มอัตราการระบายน้ำลงแม่น้ำโขงของประตูระบายน้ำห้วยโมงเดิม เพื่อลดระดับน้ำท่วมและลดระยะน้ำท่วมในช่างฤดูน้ำหลาก รวมปถึงช่วงเวลาที่แม่น้ำโขงสูง อีกทั้งยังต้องการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักของโครงการ ที่ปัจจุบันแหล่งน้ำต้นทุนหลักของโครงการ ได้แก่ อ่าวเก็บน้ำห้วยโมง อ่างเก็บน้ำห้วยลาน และลำน้ำห้วยโมง มีปริมาตรเก็บกักเมื่อสิ้นฤดูฝนอยู่ที่ 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่”

สำหรับการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ประกอบด้วย 10 กิจกรรม ได้แก่

1. การปรับปรุงประตูระบายน้ำห้วยโมงเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น และก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยโมงแห่งที่ 2 เป็นท่อระบายน้ำจำนวน 5 ช่อง ความยาวท่อระบายน้ำ 232.20 เมตร พร้อมติดตั้งเกียร์มอเตอร์และระบบโทรมาตร เพื่อช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก

2.ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมงเพิ่มความจุดเป็น 36.36 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันที่มีความจุ 14.36 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ปริมาณน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของโครงการ โดยไม่ต้องสูบน้ำกลับจากแม่น้ำโขง

3. ปรับปรุงสถานีสูบน้ำและติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ โดยจะซ่อมแซมอาคารสถานีสูบน้ำทั้งหมด 10 แห่ง และซ่องระบบโทรมาตรที่มีสภาพเก่าและใช้งานมาเป็นเวลานาน จะเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำและตู้ควบคุมที่ชำรุด 31 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำ และจะนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์มาใช้ช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำ

4. ปรับปรุงแนวท่อส่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันเก่าใช้งานเป็นเวลานาน แต่แนวท่ออยู่ในการถือครองของประชาชนและอยู่ในระดับลึก ทำให้ซ่อมแซมและบำรุงรักษายุ่งยาก จึงจะลงไปตรวจสอบและกันเขตแนวท่อส่งน้ำใหม่ เปลี่ยนท่อที่ชำรุดและหมดสภาพในการใช้งาน 9 สาน ความยามทั้งหมด 8.882 กิโลเมตร รวมทั้งย้ายแนวท่อให้บำรุงรักษาได้ง่ายขึ้น

5.ปรับปรุงคลองส่งน้ำ ได้แก่ คลองส่งน้ำสายหลักจำนวน 17 สาย ความยามรวม 83.96 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนบนคันคลองให้ได้มาตรฐาน และปรับปรุงซ่อมแซมคลองส่งน้ำสายซอยจำนวน 37 สาย ความยาวรวม 37.24 กิโลเมตร เป็นคลองส่งน้ำดาดคอนกรีต พร้อมปรับปรุงผิวจราจร ถนนบนคันคลองและอาคารประกอบตามแนวคลองทุกแห่ง

6. ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ซึ่งเป็นคลองขุดและคลองธรรมชาติใช้งานมาตั้งแต่ปี 2525 แต่ปัจจุบันตื้นเขิน แคบ และถูกบุกรุก จึงจะขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลักและสายซอย 35 สาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ

7. ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยลาน เพิ่มความจุเป็น 23.22 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ปัจจุบันมีความจุ 8.21 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะนำดินที่ขุดมาถมเป็นเกาะกลางอ่างเก็บน้ำ วางแผงโซล่าเซล์

8. ปรับปรุงคันกั้นน้ำ รวมทั้งอาคารประกอบคันกั้นน้ำตามแนวทั้ง 4 สาย จำนวน 11 แห่ง และปรับปรุงคลองขนานคันกั้นน้ำด้วย

9. ปรับปรุงขุดลอกบริเวณสถานีสูบน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรได้ และ 10. การทำระบบชลประทานอัจฉริยะ ซึ่ง เป็นโครงการจะนำร่อง เนื่องจากอยู่ในพื้นทีแปลงใหญ่ มีแหล่งน้ำต้นทุนเพียงพอหลังการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง

ผลการศึกษาในการปรับปรุงโครงการดังกล่าวนี้ จะใช้งบประมาณ 3,870 ล้านบาท ระยะเวลาในการปรังปรุง 5 ปี โดยจะได้รับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์และคุ้มค่ากับการลงทุน ช่วยให้เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานภายใต้พื้นที่โครงการ 54,000 ไร่ เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 39.49 ล้านบาศก์เมตร และลดพื้นที่น้ำท่วมลงได้กว่า 14,956 ไร่

นายสุรชาติ ยืนยันว่า การปรับปรุงประตูน้ำระบายน้ำห้วยโมงเดิม และการก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม จะไม่กระทบพื้นที่ของประชาชน เพราะกรมชลประทานก่อสร้างในพื้นที่ของกรมเอง การขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง และอ่างเก็บน้ำห้วยลาน จะขุดลอกในขอบเขตที่ดินของรัฐที่จัดซื้อไว้แล้ว และทำในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น

นายรัฐศาสตร์ ชิดชู รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า โครงการฯนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับพี่น้องเกษตรกร ในบริเวณลุ่มน้ำห้วยโมง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การแก้ไขปัญหาอุทกภัย การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การพัฒนาประตูระบายน้ำที่มีอยู่ 10 แห่ง การพัฒนาคลองส่งน้ำ การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณความจุมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ทางจังหวัดหนองคายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ที่จะช่วยเสริมคุณภาพชีวิตในเรื่องของการผลิตภาคเกษตรของประชาชนให้ดีขึ้น

นายอดุลย์ อาจคำพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่5 บ้านไฮ ต.โพนทอง อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ตัวแทนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของโครงการฯ บอกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำ โดยเฉพาะช่วงน้ำหลาก น้ำมาก ทำให้น้ำระบายออกช้า โดยเฉพาะเส้นทางน้ำที่จะลงสู่แม่น้ำโขงที่เป็นเส้นทางคอขวด หากมีโครงการการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยโมง จะช่วยทำให้มีพื้นที่การกักเก็บน้ำดีขึ้น พร้อมที่จะปลูกพืช ทำนาปรัง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ ให้ดีขึ้นอีกด้วย   

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com