บ้านท่าทอง ต.ปากน้ำ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้งแบบมะม่วงดิบ และมะม่วงสุก หลากหลายพันธุ์
โดยเมื่อปี 2560 เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง บ้านท่าทอง ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ” ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตมะม่วงคุณภาพประจำตำบลปากน้ำ และพัฒนาให้กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงมีความเข้มแข็ง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยความใส่ใจในการปลูกและดูแลตามมาตรฐาน GAP ทำให้ผลผลิตมะม่วงบ้านท่าทองมีคุณภาพ รสชาติดี หอม หวาน กรอบ มัน ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของมะม่วงแต่ละสายพันธุ์ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกสีทอง มะม่วงน้ำดอกเบอร์ 4 มะม่วงขาวนิยม (น้ำดอกไม้มัน) มะม่วงเขียวเสวย และมะม่วงโชคอนันต์
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ มีเครือข่ายสมาชิกผู้ปลูกมะม่วง 21 คน 21 แปลง พื้นที่ปลูก 387 ไร่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และมีการส่งเสริมให้นำหญ้าแฝกเข้ามาช่วยในการ อุ้มน้ำ โอบดิน ในสวนมะม่วง ช่วยให้ปริมาณผลผลิตมะม่วงสูงขึ้น มีรสชาติ และขนาดผลได้มาตรฐานการส่งออก
ล่าสุด กลุ่มฯ ได้ยกระดับกระบวนการผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยเข้าร่วม “โครงการยกระดับและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GMP” ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อพัฒนาโรงคัดบรรจุมะม่วงคุณภาพตามมาตรฐาน GMP
นายทนงศักดิ์ นิลน้อย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ กล่าวว่า ผลผลิตมะม่วงของกลุ่มฯ ผลิตเพื่อการส่งออก แม้จะได้มาตรฐาน GAP ถ้าเราไม่เรียนรู้กระบวนการจัดการผลิตมะม่วงตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ก็จะเป็นข้อเสียเปรียบในการขายและกำหนดราคา จึงได้ศึกษากระบวนการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอะไรบ้าง และได้มองเห็นถึงมาตรฐาน GMP เพราะถ้าไม่มีมาตรฐาน GMP มารองรับโรงคัดแยกมะม่วง ก็จะเหนื่อยเปล่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้ และเข้าสู่กระบวนการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ.9035-2563)
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ มกอช. ได้ช่วยให้คำแนะนำและฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ ในข้อกำหนดตามมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นความรู้ที่ใหม่ และเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ทำให้เรามีโอกาสสร้างมูลค่าผลผลิตมะม่วง
นอกจากนี้ ยังให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมในการขอรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ.9035-2563) ซึ่งขณะนี้โรงคัดแยกมะม่วงมีความพร้อมเกือบ 100% คาดว่า ไม่เกินปีหน้า สามารถเข้าสู่กระบวนการขอรับรองตามมาตรฐาน GMP ได้อย่างแน่นอน
“หากผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP เชื่อว่าจะเป็นโอกาสเพิ่มมูลค่าผลผลิตมะม่วง สามารถกำหนดราคาเองได้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงตามปกที่ต้องการ” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะม่วงบ้านท่าทอง ตำบลปากน้ำ กล่าว