สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ ในรูปแบบ Video Conference ผ่านโปรแกรม Zoom และ Facebook live ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างการรับรู้และผลักดันองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นแรงงานผู้สูงอายุไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสม โดยผู้ร่วมเสวนาเป็นวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในด้านแรงงานผู้สูงอายุ ประกอบด้วย นพ.ภูษิต ประคองสาย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมด้วย คุณอาภา รัตนพิทักษ์ จากกรมกิจการผู้สูงอายุ ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณสุมิตรา วงภักดี บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ทั้ง 2 ช่องทาง จำนวน 281 ราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการเตรียมรับสังคมสูงวัย ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักและการเตรียมความพร้อมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดเสวนา “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook live เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน การลงทุน และสนับสนุนการทำงานหรือการมีงานทำของผู้สูงอายุ เพื่อสร้างรายได้รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย
รศ. ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีงานทำมีแนวโน้มลดลง และผู้สูงอายุที่หยุดทำงานมากที่สุด ก็คือผู้สูงอายุที่อยู่ในช่วง 60 – 64 ปี ซึ่งนับเป็น 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุทั้งหมดหรือกว่า 22.5% และคาดว่าเกิดจากผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ทำงานในระบบ ซึ่งมีระยะเวลาเกษียณที่อายุประมาณ 60 ปี อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการมีงานทำหรือการทำงานของผู้สูงอายุควรมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และประเด็นสำคัญที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ แรงจูงใจในการทำงานของผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่ม ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุ โอกาสในการทำงาน การสนับสนุนจากชุมชน และการคุ้มครองในการทำงาน ดังนั้นการเตรียมพร้อมและสนับสนุนการมีงานทำ จึงควรเน้นไปที่กลุ่มประชากรหรือแรงงานอายุ 45 ปี ขึ้นไป และเพิ่มสัดส่วนของผู้สูงอายุช่วง 60-64 ปี ให้มีงานทำ และมีการส่งเสริมการจ้างงาน การคุ้มครองการทำงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสนับสนุนการปรับมโนทัศน์ต่อการทำงานกับผู้สูงอายุ ปัจจัยบุคคล ครอบครัว และสังคม โดยพิจารณาในกรอบมิติ 3 มิติ คือ มิติความมั่นคงทางรายได้ มิติครอบครัว และมิติชุมชน
คุณสุมิตรา วงภักดี บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มเป็นการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานอิสระและนอกระบบ เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งจากการดำเนินการพบว่าผู้สูงวัยที่ยังทำงาน มีความภาคภูมิใจจากการสร้างรายได้ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่เป็นภาระ และยังสามารถช่วยเหลือสังคม อีกทั้งสามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่นได้ และช่วยให้ผู้สูงวัยมีร่างกายที่แข็งแรง มีการฝึกฝนพัฒนาสมอง แต่อย่างไรก็ตามงานที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ จะต้องไม่ใช่งานหนักเกินไป ไม่ต้องทำเป็นประจำ จำนวนชั่วโมงในการทำน้อย เน้นงานที่ทำแล้วมีความสุข สามารถพบปะผู้คน ทั้งนี้ ควรมีการขยายช่วงอายุการชราภาพ ปรับค่าจ้างรายชั่วโมงให้สูงขึ้น และเพิ่มสวัสดิการ การคุ้มครองผู้สูงวัยให้ต่อเนื่อง และส่งเสริมความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนในการจ้างผู้สูงวัยเข้าทำงาน
คุณอาภา รัตนพิทักษ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ภาครัฐได้จัดทำ “แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 ซึ่งในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการส่งเสริมผู้สูงอายุในทุกมิติในด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีเตรียมความพร้อมในเรื่องการให้บริการและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ โดยในปี พ.ศ.2566 ได้ปรับเป็น “แผนปฏิบัติการผู้สูงอายุ ฉบับที่ 3” เพื่อให้มีแนวทางที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน รวมทั้งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ที่กล่าวถึงสิทธิในการทำงานและส่งเสริมการทำงาน โดยมีการกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน ส่งเสริมการสร้างงานร่วมกับภาคเอกชน ขับเคลื่อนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ลดภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมการทำงานในรูปแบบรายชั่วโมง ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อรองรับบุคคลหลังเกษียณ การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ และการสนับสนุนเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ผศ. ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สามารถแบ่งสถานภาพการทำงานผู้สูงอายุ เป็น 3 ส่วน คือ คนที่เป็นข้าราชการ คนที่เป็นคนเกษียณในระบบประกันสังคม และคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยกลุ่มที่ควรให้ความสนใจ คือ กลุ่มคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ รองลงมากลุ่มที่มีประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เยอะ จึงมีความสนใจเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งรูปแบบการทำงานของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1) การจ้างงานกลับเข้ามาใหม่และมีการเกษียณอายุการทำงานตามปกติ (Re-employment) 2) การขยายอายุการเกษียณ การใช้รูปแบบการจ้างงานในรูปแบบที่ยืดหยุ่น 3) การทำงานของแรงงานนอกระบบ การจ้างเหมาบริการ โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยที่ยังเป็นความท้าทายให้กับสังคมไทยและการสร้างนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ควรมองในประเด็น 1) ผลิตภาพของแรงงาน ค่าตอบแทนและต้นทุนของสถานประกอบการในการจ้างงานแรงงานผู้สูงอายุ 2) การแก้กฎหมายของกองทุนประกันสังคม 3) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน การจ่ายค่าชดเชย 3) การสร้างแรงจูงใจโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของภาครัฐที่ให้กับผู้ประกอบการ 4) ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ 5) ทัศนคติทางสังคม และ Diversity Management
นพ.ภูษิต ประคองสาย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมทุกท่านจะได้รับประโยชน์ทั้งในส่วนของข้อมูลและแนวทางในการสร้างโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ตามแนวทาง “Getting Research into Policy and Practice” หรือ GRiPP
ทั้งนี้ การจัดเสวนา “ขับเคลื่อนแรงงานสูงวัย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” วช. พร้อมที่จะสนับสนุนไปสู่การผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของผู้สูงอายุ และนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วยวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งส่งเสริมให้คนทุกช่วงวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและรับมือกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย