วันที่ 16 มี.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ” ระหว่างกระทรวง อว. กับ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วม ทั้งนี้ มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. และ พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นผู้ร่วมลงนาม ที่สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสภาวการณ์ของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมมีการพัฒนารูปแบบไปตามยุคสมัยและถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวบุคคลและความสงบเรียบร้อยของสังคม ดังนั้นการจัดการกับปัญหาโดยเฉพาะการป้องกันจึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจะต้องบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบ่มเพาะกำลังคนสมรรถนะสูงที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคตในการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันอาชญากรรมให้ครอบคลุมทั้งมิติของการป้องกันการกระทำความผิดและมิติของการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกันอาชญากรรมและการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันอาชญากรรรมในเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและเพื่อสร้างระบบสภาพแวดล้อมการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมทักษะการเอาตัวรอดแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย นักศึกษาหรือประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในกระบวนการป้องกันอาชญากรรมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี
ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางวิชาชีพตำรวจ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตบุคลากรในวิชาชีพตำรวจ ตามความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเน้นทักษะความเชี่ยวชาญ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และวิชาชีพตำรวจเป็นสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนทางด้านวิชาการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยในปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีนโยบายด้านการส่งเสริมวิชาการ การเรียนการสอน การทำวิจัยการฝึกอบรม และการบริการทางวิชาการแก่สังคม เน้นทักษะความเชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมายและวิชาการตำรวจ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้ และทักษะประสบการณ์ อันจะนำมาซึ่งการอำนวยประโยชน์ทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน การบูรณาการสหศาสตร์ และการต่อยอดทางองค์ความรู้ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการบ่มเพาะกำลังคนสมรรถนะสูงที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคต
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมมีแนวโน้มของความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนคือ สถิติคดีอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีและข่าวสารที่สื่อแขนงต่างๆ มีการนำเสนอข่าวการตกเป็นเหยื่อคดีอาชญากรรม และความเสียหายจากปัญหาอาชญากรรมอย่างต่อเนื่อง แม้สังคมต้องประสบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ปัญหาอาชญากรรมที่มีการวิวัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลง ยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม เพราะถือเป็นภัยใกล้ตัวที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคล และความสงบเรียบร้อยของสังคมในภาพรวม ดังนั้น การจัดการกับปัญหาอาชญากรรม จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการ เพื่อระดมองค์ความรู้ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการค้นคว้าวิจัย และการสร้างนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาอาชญากรรม ที่จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งในมิติของการป้องกันการกระทำความผิด และมิติของการป้องกันการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ในรูปแบบต่างๆ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น อาทิ การฉ้อโกงออนไลน์ การหลอกลงทุน คอลเซ็นเตอร์ การกราดยิง เป็นต้น
“โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันอาชญากรรม สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมสมัยใหม่ โดยเฉพาะการให้วัคซีนทางไซเบอร์ เพื่อให้มีความรู้เท่าทันอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมปัจจุบัน การจับมือร่วมกันในครั้งนี้ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน อันจะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางองค์ความรู้ และสามารถนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างเสริมให้สังคมปลอดภัยจากอาชญากรรม มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว