องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้นิยามของโรคอ้วน (Obesity) เอาไว้ว่า เป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่สะสมไขมันมากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยภาวะอ้วนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases; NCDs) อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคมะเร็ง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (Stroke) ตลอดจนโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่หัวใจ (Atherosclerotic Cardiovascular Disease; ASCVD) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยิ่งเป็นตัวเน้นย้ำให้เห็นถึง อันตรายของโรคอ้วน เมื่อองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ผู้ป่วยโรคอ้วน มีโอกาสเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าคนปกติ 7 เท่า
นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน
กรุงเทพ (BARSO) และประธานคณะผู้บริหาร
บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก
ตั้งใจหยิบยกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนขึ้นมาพูดถึงใน “วันอ้วนโลก (World Obesity Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มีนาคมของทุกปี เพื่อสร้าง “ความตระหนักรู้” และ “หยุดการเพิ่มขึ้น” ของวิกฤตโรคอ้วนให้ได้ภายในพ.ศ. 2568
“โรคอ้วนเป็นภัยคุกคามสำคัญของประเทศไทย เห็นได้จากข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รายงานความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่ ในพ.ศ. 2565 อยู่ที่ 47.8% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในพ.ศ. 2559 สอดคล้องกับรายงานของสำนักโภชนาการ พ.ศ. 2563 พบว่า ความชุกของภาวะอ้วน ในผู้หญิงอยู่ที่ 46.4 % และผู้ชาย 37.8 % เพิ่มขึ้นจากพ.ศ. 2557 ที่มีความชุกเพียง
41.8% และ 32.9% โดยความชุกของภาวะอ้วนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้
อีกกลุ่มวัยที่ไม่ควรละเลย คือ กลุ่มวัยเด็ก เพราะจากรายงานผลของสำนักโภชนาการ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 6 - 14 ปี
มีปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินมีสัดส่วนมากถึง 13.3% และเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07%” คุณหมอแอมป์กล่าว
เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคอ้วน
คุณหมอแอมป์จึงได้หยิบยก 5 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโรคอ้วน
ขึ้นมาถ่ายทอดให้กับทุกคนเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี
เรื่องที่ 1: ภาวะอ้วนจัดเป็นโรคชนิดหนึ่ง
“บางท่านอาจยังไม่ทราบว่า โรคอ้วนก็จัดเป็นโรคเรื้อรังเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่
2 หรือโรคความดันโลหิตสูง” คุณหมอแอมป์กล่าวถึงความเข้าใจผิดเรื่องโรคอ้วน
โรคอ้วนคือ
ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลให้การทำงานของระบบต่าง ๆ เกิดความผิดปกติ เช่น
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ปัญหาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง รวมไปถึงความผิดปกติทางเมตาบอลิก
อย่างระดับน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้น ความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น
การอักเสบในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคอื่นๆ เช่น
โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
โรคอ้วน
มีระยะของโรค เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ โดย American Association of Clinical
Endocrinologists (AACE) ได้กำหนดให้มี 3 ระยะหลักด้วยกัน ได้แก่ ‘ระยะ 0’ หรือภาวะที่มีเนื้อเยื่อไขมัน
(Adipose tissue) แต่ไม่ยังพบภาวะแทรกซ้อนใด, ‘ระยะที่ 1’ หรือระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับน้อยถึงปานกลางที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย
1 อาการ และ ‘ระยะที่ 2’ หรือระยะที่มีภาวะแทรกซ้อนระดับรุนแรงที่สัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างน้อย
1 อาการ
“ภาวะอ้วน ไม่ใช่แค่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
หรือผลของการเลือกใช้ชีวิต แต่ภาวะอ้วนเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย” คุณหมอแอมป์เน้นถึงอันตรายของโรคอ้วน
เรื่องที่ 2: น้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบ่งบอกภาวะอ้วนได้
โดยทั่วไปค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มักจะถูกใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาภาวะอ้วน
โดยคนที่มีน้ำหนักเกินจะมี BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
และคนอ้วนจะมี BMI ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
แต่แท้จริงแล้ว BMI อาจไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำมากนัก
ในการประเมินภาวะอ้วน เพราะไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของร่างกายได้
เช่น บุคคลที่มี BMI เท่ากัน
อาจมีสัดส่วนกล้ามเนื้อและไขมันไม่เท่ากัน เช่น
นักเพาะกายมีกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ขาดการออกกำลังกาย
คุณหมอแอมป์แนะนำว่า ไม่ควรใช้ BMI ในการวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว
ควรใช้เครื่องมืออื่นประกอบ
ไม่ว่าจะเป็น การวัดเส้นรอบเอว หรือ
การวัดองค์ประกอบร่างกายด้วยเครื่อง DEXA (Dual-Energy X-ray
Absorptiometry) เพื่อประเมินสัดส่วนไขมันทั้งหมดของร่างกาย โดยในกลุ่มวัยกลางคน
(อายุ 20 – 50 ปี) ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน
32% และผู้ชายไม่ควรเกิน 28%
เรื่องที่ 3: โรคอ้วนเกิดจากหลายปัจจัย
ไม่ใช่แค่การกินอาหารมากเกินไปเท่านั้น
ผู้คนมักเข้าใจว่า หากเรารับประทานอาหารในปริมาณมากจะทำให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
เพราะพลังงานแคลอรีนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร แต่อย่าลืมว่า อาหารที่มีปริมาณเท่ากัน อาจให้พลังงานที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิล 100 กรัม
ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี ในขณะที่ช็อกโกแลตแท่ง 100 กรัม ให้พลังงาน 400 กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นพลังงานของอาหาร ตามสัดส่วนของสารอาหาร คาร์โบไฮเดรต
โปรตีน และไขมัน โดยคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม และไขมันอยู่ที่ 9 กิโลแคลอรีต่อกรัม
ดังนั้น การรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันและรักษาโรคอ้วน
ไม่ใช่แค่เพียงการจำกัดปริมาณเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม
อาหารที่มีใยอาหาร หรือ ไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืชไม่ขัดสี
มักให้พลังงานน้อยกว่าอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงมีสารอาหารอื่น ๆ
ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ
เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
การเกิดโรคอ้วน ยังมีสาเหตุหลายอย่างรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย
การนอนหลับ การทำงานของฮอร์โมน ไปจนถึงรหัสพันธุกรรมต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ดังนั้น
ต้องคำนึงถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่าง ๆ (Lifestyle
Modification) ไปพร้อมกัน
เรื่องที่ 4: ยิ่งอ้วนจะควบคุมการกินได้ยากยิ่งขึ้น
โรคอ้วนเกิดจากความไม่สมดุลในการควบคุมความหิวและความอิ่มของร่างกาย
ซึ่งถูกควบคุมด้วยระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ (Neuroendocrine) ต่อมไร้ท่อจะสร้างฮอร์โมนที่สามารถส่งสัญญาณไปที่สมอง
เพื่อบอกว่า เราควรรับประทานอาหารต่อหรือไม่
ฮอร์โมนที่สำคัญคือ
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม
ฮอร์โมนนี้หลั่งจากเซลล์ไขมัน และจะหลั่งมากขึ้นตามจำนวนเซลล์ไขมันในร่างกาย
หากเรานอนพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้การหลั่งฮอร์โมนเลปตินลดลง
ความอยากรับประทานอาหารก็จะเพิ่มมากขึ้น
“ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน
(Leptin
resistance) คือ
ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสัญญาณอิ่มของฮอร์โมนเลปติน ทำให้ไม่รู้สึกอิ่ม
และไม่หยุดรับประทานอาหาร” คุณหมอแอมป์อธิบายถึงสาเหตุของความอยากอาหารที่มากขึ้น
ส่วนฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกันคือ
ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) หรือฮอร์โมนกระตุ้นความหิว
จะหลั่งมากในช่วงก่อนมื้ออาหาร และจะหลั่งลดลงเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร
ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน การหลั่งของฮอร์โมนเกรลินจะมีความผิดปกติคือ
แม้จะรับประทานอาหารไปแล้วแต่ระดับของฮอร์โมนเกรลินก็ไม่ลดลง
ทำให้ความอยากอาหารไม่ลดลง
ฉะนั้นโรคอ้วน จึงไม่ใช่เพียงแค่การขาดความยับยั้งชั่งใจ
(Willpower) ในการหยุดรับประทาน
แต่เป็นเรื่องของความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายด้วย
เรื่องที่ 5: โรคอ้วนเป็นผลจากทั้งพันธุกรรม
และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างเข้าใจว่า
โรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะมักพบว่าหากบุคคลในครอบครัวมีภาวะอ้วนก็จะสืบทอดต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลาน รหัสพันธุกรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น FTO หรือ
Fat Mass and Obesity-Associated Gene เป็นต้น แต่รหัสพันธุกรรมไม่ใช่เพียงสาเหตุเดียวของการเกิดโรคอ้วน
ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle)
คุณหมอแอมป์อธิบายว่า
พฤติกรรมการบริโภค การเลือกซื้ออาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง
หรืออาหารผ่านกระบวนการแปรรูป (Processed Foods) ก็มีส่วนสำคัญ
รวมถึงวัฒนธรรมในครอบครัวและสังคมแวดล้อมอีกด้วย
แม้ว่าปัจจัยภายในอย่างเรื่องของพันธุกรรมหรือยีนเป็นสิ่งที่ติดตัวกับเรามาตั้งแต่เกิดและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
แต่ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อีกมากที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคอ้วนนั้น
เราสามารถควบคุมและเปลี่ยนแปลงได้หากเราปรับพฤติกรรม ดูแลสุขภาพของเรา
เราก็จะสามารถหลีกหนีจากโรคอ้วนได้
นอกจากนี้ คุณหมอแอมป์
ยังได้แนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพง่าย ๆ เพื่อให้ห่างไกลโรคอ้วน ว่ามี
7 ข้อ ดังนี้
1. เลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ใน 1 จาน เป็นผัก 50% อีก 25% เป็นโปรตีนคุณภาพดี
เช่น ปลา ถั่วและธัญพืช และ 25% สุดท้ายเป็นข้าวแป้งไม่ขัดสี
อย่างเช่น ข้าวกล้อง
2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงหรือบริโภคแต่น้อย โดยเฉพาะไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว
เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน
หนังสัตว์ เครื่องใน ขนมเค้ก อาหารฟาสต์ฟู้ด ชานมไข่มุก เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed meat) อย่างเบคอน
ไส้กรอก แฮม แหนม กุนเชียง ไส้อั่ว หมูแผ่น หมูยอ ลูกชิ้น เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเบเกอรี
และอาหารที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มบางชนิดมีส่วนผสมของ High Fructose
Corn Syrup (HFCS) เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำเชื่อม
น้ำผลไม้ แยม ลูกกวาด คุกกี้ ไอศครีม เค้ก พาย เป็นต้น
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย
150 นาทีต่อสัปดาห์
หรือ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างน้อย 8 - 9 ชั่วโมงทุกวันและควรเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม
6. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
7. ผ่อนคลายความเครียด
ด้วยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือทำกิจกรรมที่ทำให้สมองสงบ ได้พักผ่อน
ทุกวันนี้คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่
มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนรวมถึงภาวะอ้วนลงพุงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
นับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ
เพราะโรคอ้วนจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา จนท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต
คุณหมอแอมป์ จึงขอใช้โอกาสวันอ้วนโลก (World Obesity Day)
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วน เพื่อสร้างสังคมสุขภาพดีไปด้วยกัน