เมื่อเร็วๆ นี้ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ นำสื่อมวลชน เยี่ยมชมการตรวจติดตามสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 และ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2550) และการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เปิดเผยว่า การนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมการข้าวต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือก ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e -Rice Regulator System : e – RRS) และระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – GAP Seed : e – GS) ให้เห็นถึงความร่วมมือของผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว กับกรมการข้าว ในการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานออกไปสู่ตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าว และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงการปฏิบัติภารกิจของสารวัตรข้าว ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชฯ ในพื้นที่
โดยสารวัตรข้าว ประกอบด้วยข้าราชการสังกัดกรมการข้าวตำแหน่งนักวิชาการเกษตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร นักกีฏวิทยา นักวิชาการโรคพืช และนิติกร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป และเจ้าพนักงานการเกษตร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติงานขึ้นไป ซึ่งดำเนินการด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เห็นถึงสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านการตรวจติดตาม ควบคุม กำกับ ดูแลและตรวจสอบสถานประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว และการเก็บพยานหลักฐานตามหลักการสืบสวนสอบสวนของกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา หากพบการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืชเกิดขึ้น รวมถึงวิธีการขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ. 4406) หรือ GAP Seed ผ่านระบบ e-GS แบบ End-to-End Process ตั้งแต่การยื่นคำขอจนได้รับการรับรอง ไปจนถึงการได้รับการรับรอง เพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ควบคุมข้าวเปลือกคุณภาพ ให้เกิดระบบการตามสอบย้อนกลับ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งระบบของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าวนั้น มาตรฐานที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพในแต่ละชั้นเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี มีความตรงตามพันธุ์ และปริมาณการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในชั้นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายของกรมการข้าว ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ สหกรณ์การเกษตร และศูนย์ข้าวชุมชน จะต้องมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรฐานสินค้าเกษตร และระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) หรือ GAP Seed โดยในแต่ละปีจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 721,660 ตัน คิดเป็น 56% จากปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกประมาณปีละ 1,276,272 ตัน ซึ่งจะมีเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้จากฤดูกาลผลิตที่แล้วมาใช้ปลูกประมาณปีละ 554,612 ตัน คิดเป็น 44%
“เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) นั้น มีไว้เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดี โดยมีกรมการข้าว ทำหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล ผู้ประกอบการค้าเมล็ดพันธุ์ และวางแนวทางการปฏิบัติให้กับเกษตรกร ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เหมาะสำหรับนำไปปลูกและผลิตเป็นข้าวเพื่อการบริโภค และนำไปแปรรูป โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้เมล็ดพันธุ์”นายชิษณุชา กล่าว
นายชิษณุชา กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2566 กรมการข้าว มีเป้าหมายการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกลุ่มเกษตรกร ศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์การเกษตรสมาคมผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และภาคเอกชนทั่วไป โดยจะพัฒนาสถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมฯ จำนวน 20 แห่ง และพัฒนาระบบควบคุมภายใน ขอบข่ายแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและขอบข่ายการปรับปรุงสภาพและบรรจุเพื่อจำหน่าย จำนวน 309 กลุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ปริมาณ 25,000 ตัน โดยมีแนวทางการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพด้วยการสร้างจูงใจให้เกษตรกรตระหนักและกลับมาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในการเพาะปลูกมากขึ้น โดยภาครัฐจะให้การสนับสนุน ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ GAP Seed เพื่อพัฒนาการปลูกข้าวของเกษตรกรและการเก็บรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงช่วงฤดูปลูกให้กับเกษตรกรที่เก็บพันธุ์ของตนเองไว้ใช้เพาะปลูก รวมไปถึงส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตั้งแต่กระบวนการปลูก ไปจนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการขอการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ GAP Seed ให้กับเกษตรกรอีกด้วย
“การประชาสัมพันธ์พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ.4406) สู่สาธารณะ จะช่วยให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง มีความสนใจที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีในการเพาะปลูก และปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ในตลาดเมล็ดพันธุ์ มีปริมาณผลผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เชื่อถือในระบบคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดพันธ์ข้าวของไทย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพดี จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของประเทศไทยต่อไป ในขณะเดียวกัน เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวมีความใส่ใจ เข้าใจ และระมัดระวังในการประกอบธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
หากเกษตรกรต้องการขอการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (มกษ. 4406) หรือ GAP Seed สามารถดำเนินการด้วยความสะดวกและง่าย โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ ณ สำนักงาน สามารถติดตามสถานะของการขอการรับรอง โดยสามารถเรียกดู e-Certification ที่ลงนามมโดยใช้ e-Signature ได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว การตรวจสถานประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีกลุ่มเครือข่ายระหว่างสารวัตรข้าวและผู้ประกอบการธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าว ช่วยประสานงานและเฝ้าระวังเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานในตลาดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้มีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดได้น้อยลง”นายชิษณุชา บุดดาบุญ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กล่าว