นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้ นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นประธานการประชุมติดตามสถานะการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยสัตว์และใบรับรองความปลอดภัยอาหารอิเล็กทรอนิกส์ (e-AH และ e-FS) ของไทย ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากร
ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น เนื่องจาก มกอช. ในฐานะผู้ประสานหลักด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ของไทยในอาเซียน หรือ ASCP ได้รับมอบหมายภารกิจจากอาเซียนให้เป็นผู้รับผิดชอบหลักในผลักดันการเชื่อมต่อใบ e-AH และ e-FS ของไทย ภายใต้ ASW ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการรับไม้ต่อจากคณะทำงานด้านเทคนิคของ ASW ที่รับหน้าที่โดยกรมศุลกากร ที่ได้ผลักดันการเชื่อมต่อใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ภายใต้ ASW สำเร็จแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2565
โดยอาเซียนกำหนดแผนงานการเชื่อมต่อใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-SPS) ภายใต้ ASW ดังนี้ 1.ใบ e-Phyto เป็นเอกสารแรกของ e-SPS ที่อาเซียนผลักดันให้มีการเชื่อมต่อภายใต้ ASW ซึ่งไทยและอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 2.ใบ e-AH เป็นใบรับรองลำดับถัดไปที่อาเซียนตั้งเป้าหมายให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ภายในปี 2566 และ 3.ใบ e-FS จะพัฒนาการเชื่อมต่อภายใต้ ASW ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อ e-AH
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานะการพัฒนาระบบ e-AH และ e-FS ของกรมปศุสัตว์และกรมประมง โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบใบรับรองสุขอนามัยอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะสามารถทดสอบการเชื่อมต่อกับ NSW ของกรมศุลกากรได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 สำหรับกรมประมง ขณะนี้ได้พัฒนาระบบใบรับรองสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภคและเชื่อมต่อกับ NSW เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนาระบบใบรับรองชนิดอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะคณะทำงานด้านเทคนิคที่เคยผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองชนิดอื่นๆ ภายใต้ ASW เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบในอนาคตต่อไป
“มกอช. ในฐานะหน่วยงานหลักของไทยที่รับผิดชอบภารกิจผลักดันการเชื่อมต่อใบ e-AH และ e-FS จะจัดประชุมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ ASW ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากรต่อไป เพื่อจัดทำท่าทีฝ่ายไทยเสนอต่ออาเซียนในการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนภายใต้ ASW ให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามการใช้งานจริงมากยิ่งขึ้น”เลขาธิการ มกอช. กล่าว