เช้าวันนี้ (4 มกราคม 66) ณ ลานหน้าอนุเสาวรีย์หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมชลประทาน ผู้แทนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันจากคณะวิศวกรรมการชลประทาน สถาบันพัฒนาการชลประทาน ร่วมในพิธีวางแจกันสักการะอนุสาวรีย์ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานคนที่ 12 "บิดาแห่งชลกร" เนื่องใน "วันชูชาติ" ประจำปี 2566
งาน "วันชูชาติ" จัดขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึง หม่อมหลวงชูชาติ กำภู อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้สร้างคุณงามความดีในการพัฒนาด้านการชลประทานให้กับประเทศไทยไว้อย่างมากมาย จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็น “วันชูชาติ” โดยในปี 2566 นี้ ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การประกอบพิธีสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ ม.ล.ชูชาติ กำภู คุณหญิงโฉมศรี กำภู ณ อยุธยา(ภริยา) คณาจารย์ และศิษย์เก่าผู้ล่วงลับ พร้อมกันนี้ยังได้จัดให้มีพิธีวางแจกัน เคารพอนุเสาวรีย์ ม.ล.ชูชาติ กำภู การจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 พิธีมอบทุนการศึกษา ตลอดจนการจัดเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย” ณ หอประชุม ชูชาติ กำภู
อนึ่ง หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2448 ณ ตำบลประตูสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของพลตรีพระยาสุรเสนา(หม่อมราชวงศ์ชิต กำภู) และคุณหญิงผอบ สุรเสนา โดยได้รับพระราชทานนาม “ชูชาติ” จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีน้องชาย-หญิง ร่วมบิดามารดารวม 12 คน ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานคนที่ 12 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2492 จนถึงปี พ.ศ.2509
ทั้งนี้ หม่อมหลวงชูชาติฯ ได้วางรากฐานและแผนงานด้านการชลประทานที่สำคัญ เพื่อพัฒนาประเทศไว้มากมาย มีการนำงานชลประทานราษฎร์ ประเภทเหมืองฝายมาดำเนินการเอง จนทำให้มีการก่อสร้างเหมืองฝายจำนวนมาก รวมทั้งยังบุกเบิกงานสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย อาทิ โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ โครงการยันฮี ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรว่า "เขื่อนภูมิพล" ทำให้กรมชลประทานเข้าสู่ยุคของการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง เนื่องจากท่านเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนากำลังคน ให้มีความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานชลประทานให้ก้าวไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศ ท่านได้อุทิศเวลาการทำงานจนสามารถสร้างผลงานด้านการชลประทานที่สำคัญไว้มากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งชลกร" เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณความดีของ หม่อมหลวงชูชาติ