อว. จัดงาน “ดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2565” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านการดนตรี ดึงวงนักศึกษาจาก 18 สถาบันร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ ให้รับฟังอย่างเต็มอิ่ม 3 -5 ธันวาคมนี้ ที่สวนสาธารณะสำคัญ 3 แห่งของกรุงเทพฯ

อว. จัดงาน “ดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2565” เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ฯ วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านการดนตรี ดึงวงนักศึกษาจาก 18 สถาบันร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ ให้รับฟังอย่างเต็มอิ่ม 3 -5 ธันวาคมนี้ ที่สวนสาธารณะสำคัญ 3 แห่งของกรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า วันที่ 5 ธันวาคม 2565 เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ รัฐบาลได้กำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ซึ่งไม่เพียงแต่ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเท่านั้น แต่พระองค์ทรงเป็นทั้งคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่องถึงพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรี ทรงเป็นองค์บรมราชูปถัมภกทางดนตรี ทรงส่งเสริมทั้งดนตรีไทยและสากล ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ศิลปินดนตรีอย่างทั่วหน้า และเป็นประโยชน์นานัปการแก่สังคมและประชาชนชาวไทย เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยการน้อมนำพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านดนตรี มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างความดีงาม สืบสานศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมผ่านการแสดงดนตรี 
กระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานในสังกัดทั้งสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงร่วมกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ ร.9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2565 “ดนตรี อว. เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2565” ขึ้นเป็นปีที่ 2 ซึ่ง “ดนตรี” ถือเป็นอีกหนึ่งศิลป์ที่กระทรวง อว.ให้ความสำคัญ นอกเหนือจากศาสตร์ที่เป็นการสร้างองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 
ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2565 ในพื้นที่สวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 แห่ง คือ สวนเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก สวนหลวงพระราม 8 เชิงสะพานพระราม 8 และสวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ถนนกำแพงเพชร 3 ภายในงานจะมีวงดนตรีจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. 18 สถาบัน หมุนเวียนกันมาร่วมถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์และบทเพลงต่าง ๆ ในแต่ละวัน อาทิ วง KU Band and Alumni วงดนตรีที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ถือกำเนิดมายาวนานกว่า 70 ปี จะมาบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ให้รับฟังกันที่สวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ในวันที่ 3 ธันวาคม วันเดียวกันที่สวนเบญจกิติ จะเป็นวงดนตรี Rangsit University Jazz Orchestra วงแจ๊สออร์เคสตราแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในวงแจ๊สออร์เคสตราระดับนักศึกษารุ่นบุกเบิกในประเทศไทย และที่สวนหลวงพระราม 8 มีวงดนตรีไทยฉลองขวัญสังคีต จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จะมาบรรเลงเพลงชะตาชีวิต ด้วยวิธีการบรรเลงแบบ “ลูกขัด”เพื่อให้มีทำนองเพลงที่เหลื่อมกัน ฟังเสมือนคลื่นน้ำ ซึ่งเป็นอรรถรสในการฟังเพลงอีกรูปแบบหนึ่ง   
ส่วน วงดนตรี CU Band จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2498 และได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยตลอดจนระดับประเทศ จะมาบรรเลงเพลงให้ฟังในวันที่ 5 ธันวาคม ที่สวนหลวงพระราม 8 ขณะที่สวนวชิรเบญจทัศในคืนวันที่ 5 ธันวาคม จะพบกับวงถั่วงอกสีทอง วงเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คละชั้นปี เพื่อบรรเลงบทเพลงของพ่อโดยเฉพาะ และ วง Silpakorn Univ ersity Wind Orchestra วงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร  

ประชาชน และผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ และผลงานการแสดงดนตรีจากสถาบันการศึกษาได้ตั้งแต่เวลา 17.00 - 20.00 น. 
 
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com