‘รมช.มนัญญา’ เปิดโครงการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ.ชลบุรี หนุนเสริมความรู้การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ครูบัญชีอาสา พร้อมเป็นเครือข่ายถ่ายทอดความรู้การทำบัญชี ช่วยวางแผนการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าของเกษตรกร
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.30 น. ณ สวนนงนุช เทรดดิชั่น รีสอร์ต ชลบุรี ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี เร่งสร้างแกนนำเกษตรกรเป็นครูบัญชีอาสา ถ่ายทอดความรู้การบันทึกบัญชีควบคู่การบันทึกกระบวนการผลิตสินค้า ช่วยเกษตรกรพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนการพัฒนาประเทศที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ หนึ่งในโครงการพัฒนาประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัย ตลอดจนพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เกษตรกรต้องมีการจดบันทึกบัญชี จะทำให้เกษตรกรทราบถึงต้นทุนการผลิต สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์รายได้ รายจ่าย ผลกำไรของตนเองได้ โดยมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการนำบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกร ผ่านอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชี) ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการบันทึกบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน บัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้แก่เกษตรกร มุ่งหวังให้เกษตรกรจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงิน รวมทั้งรู้ต้นทุนสินค้าที่ผลิต สามารถกำหนดราคาขายสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนและสร้างกำไรได้เพียงพอกับการใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว
“ในปีนี้รัฐบาลได้กำหนดเป็นปีแห่ง “การแก้ปัญหาหนี้สิน” ให้ประชาชน สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรถือเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่จะต้องส่งเสริมบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก โดยหาวิธีการ แนวทางให้สมาชิกประกอบอาชีพแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถลดหนี้สินได้ ซึ่งการทำบัญชี ถือเป็นเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีให้กับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้สามารถนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาวิเคราะห์วางแผนการใช้จ่ายได้อย่างสมเหตุสมผล ใช้วางแผนการประกอบอาชีพ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องในครัวเรือน และลดภาระหนี้สินได้” รมช.กษ.กล่าว
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วยครูบัญชีอาสา เกษตรกร และผู้นำชุมชน
ในเขตจังหวัดชลบุรี รวม 250 คน ได้เสริมสร้างความรู้ด้านการทำการเกษตรสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีความรู้เรื่องบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพ บัญชีธุรกิจ ตลอดจนสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับผู้สนใจ ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนครูบัญชีในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน จึงได้จัดตั้งอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้แก่เกษตรกร สามารถบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่าย วางแผนการใช้จ่ายเงิน วางแผนประกอบอาชีพ สามารถบริหารจัดการทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารการตลาดจนประสบผลสำเร็จ
รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 7,636 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรควบคู่กับการนำบัญชีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นับเป็นกำลังหลักที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน พึ่งพาตนเองได้ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชน ซึ่งรวมไปถึงเด็กนักเรียนและประชาชนทั่วไป โดยกรมฯ ได้เร่งสร้างแกนนำเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นครูบัญชีอาสาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสานต่องานสอนบัญชีให้ขยายผลไปในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นต้นแบบความสำเร็จให้เกษตรกรและคนในชุมชนได้ใช้เป็นแนวทางการประกอบอาชีพ และเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการจัดทำบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ขยายผลลงไปสู่พื้นที่ภาคเกษตรรองรับโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายชมรมครูบัญชี ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและกว้างขวางยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนี้รัฐบาลให้ความสำคัญมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายของการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยเกษตรกรต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ มีการจดบันทึกกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่เพื่อทราบต้นทุนผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ทราบต้นทุนการผิตที่แท้จริงของตนเองสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์รายได้ รายจ่ายและผลกำไรของตนเองได้