อุบลราชธานี นอกจากจะมีก๋วยจั้บญวนที่ขึ้นชื่อแล้ว ต่อไปจะได้ยินชื่อ กล้วยหอมทอง ที่เตรียมเป็นสินค้า GI ของดีของเด่นเมืองอุบลราชธานีอีกอย่างหนึ่งกันเลยทีเดียว
นายณรงค์ศักดิ์ สนัย ประธานวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ ฟาร์มอุบล ตั้งอยู่ตำบลแก้ง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ทางกลุ่มได้รวมตัวกันเมื่อปี พ.ศ. 2562 ได้รวบรวมเกษตรกรสมาชิก ตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ฟาร์ม ปลูกกล้วยหอมทองพันธุ์ “แขนทอง” เป็นกล้วยหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นกล้วยป่าพื้นเมืองที่มาผสมกับกล้วยหอมทองทั่วไป มีผลเรียวยาวเท่าแขนเด็ก มีเนื้อแน่น รสชาติหวานหอม เปลือกหนา เก็บได้ยาวนานเหมาะแก่การส่งออก ปัจจุบันส่งขายให้ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อต้นปีที่ผ่านมาทางกลุ่มฯสามารถส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ
กระบวนการปลูกนั้น มีกระบวนการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดโรค-แมลง แต่ใช้เทคนิคหลายอย่างร่วมกัน อาทิ การคลุมผ้ายางสั่งทำขนาดพิเศษเพื่อคลุมวัชพืชหลังปลูกได้ประมาณ 1 เดือน ร่วมกับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาตั้งแต่เริ่มปลูกและฉีดพ่นเป็นประจำทุกสัปดาห์ พร้อมเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายไปกับน้ำเพื่อลดต้นทุน แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้น
การปลูกของสมาชิกจะเป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด ใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเนื้อเยื่อ ปลูกไร่ละ 400 ต้น ก่อนปลูกให้ความสำคัญกับการเตรียมดินอย่างดี ใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ไถระเบิดดินลึก 50-60 เซนติเมตร จากนั้นใส่มูลไก่ 6 ตัน/ไร่ ใช้โรตารีปั่นตีดินให้เข้ากันก่อนมาวางแนวขุดหลุมปลูกแบบแถวคู่ มีการวางระบบน้ำหยดและให้ปุ๋ยเกล็ดที่แต่งสูตรขึ้นเองผ่านระบบน้ำ
ปุ๋ยใช้ 4 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร ปล่อยไปได้ทั่วทั้งสวน เติมใส่ถังน้ำทุก 15 วัน ตกเดือนละ 8 กิโลกรัมเท่านั้น ช่วง 3 เดือนแรกให้ปุ๋ยสูตร 20-20-20 พออายุ 120 วันขึ้นไป เปลี่ยนมาเป็นสูตร 6-32-32 ไปจนถึงเดือนที่ 6 จากนั้นจะเปลี่ยนมาใช้สูตร 0-0-60 แก่ต้นที่ทยอยตัดปลี ซึ่งจะให้แบบเม็ดเฉพาะต้นละประมาณ 2 กำมือ ให้ครั้งเดียวแล้วรอเก็บเกี่ยวได้เลย
กล้วยหอมทองแขนทอง ใช้ระยะเวลาปลูกต่อครอป 8 เดือน ผลผลิตขั้นต่ำ 8-10 ตัน/ไร่ ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาชิกจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่ 600 ไร่ใน จ.อุบลราชธานีและศรีษะเกษบางอำเภอ ซึ่งเพิ่งจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจกล้วยหอมทองแสงแรกอุบลราชธานี” ปลูกกล้วยส่งญี่ปุ่นโดยเฉพาะ และอีก 700 ไร่ครอบคลุม 6 จังหวัด ส่งขายตลาดในประเทศ โดยเกษตรกรสมาชิกจะมีรายได้ประมาณ 80,000-100,000 บาท/ไร่/ครอป โดยจะเก็บที่ความแก่ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้เวลาเดินทางขนส่งสู่ญี่ปุ่นใน 15 วัน ก็จะสุกพอดี
ตอนนี้ทางกลุ่มฯได้มีการตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะมีความต้องการสูงถึง 8,000 ตัน/สัปดาห์ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย ดอกเบี้ยล้านละร้อย มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ
สำหรับเกษตรกรในพื้นที่หรือใกล้เคียงที่อยากมีปลูกกล้วยหอมทอง ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟรุทส์ ฟาร์มอุบล ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณณรงศักดิ์ สนัย หรือ คุณหนึ่ง โทรศัพท์ 065 809-4996 หรือเกษตรกรที่อยากได้แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาอาชีพ สอบถามข้อมูลได้ที่ธนาคาร ธ.ก.ส.ใกล้บ้าน หรือ Call Center 0-2555-0555 ตลอด 24 ชั่วโมง