สทนช. เสนอร่างผังน้ำให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนพิจารณาให้ความคิดเห็น

สทนช. ลงพื้นที่นำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับร่าง 1 พื้นที่ภาคเหนือ 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน หวังใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่
วันนี้ (19 ตุลาคม 2565) นางสาวสุมาลี พึ่งคำ ผู้อำนวยการกลุ่มอุตุและอุทกวิทยาประยุกต์ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผังน้ำครั้งที่ 2 ว่า สทนช. ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 2 พื้นที่ลุ่มน้ำยม เวทีที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ณ โรงแรมแพร่นครา อ.เมือง จ.แพร่ เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ฉบับที่ 1 ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงจัดทำร่างผังน้ำ และนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมครั้งถัดไป โดยได้รับเกียรติจากนางสาวนิตยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง 
 นางสาวสุมาลี พึ่งคำ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่ 
การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย การบริหารจัดการภัยแล้ง และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ 
 ผลการวิเคราะห์และจัดทำร่างผังน้ำ (ฉบับร่าง 1) ลุ่มน้ำยม จำแนกเป็น 3 รหัสโซนรวมพื้นที่ 2,903,037 ไร่ ได้แก่ พื้นที่น้ำหลาก
ริมลำน้ำ (ลน.) จำนวน 13,513 ไร่ พื้นที่น้ำหลากระบาย (ลร.) จำนวน 2,540,800 ไร่ และพื้นที่น้ำนอง (น.) จำนวน 348,724 ไร่ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ เบี่ยงเบนการไหลของน้ำ และผังน้ำจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อมีการควบคุม
การพัฒนาสิ่งปลูกสร้างและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ผังน้ำอย่างเหมาะสม เช่น เขตชลประทานน้ำนองและเขตที่กำหนดไว้เป็นทางน้ำหลาก ควรเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม พื้นที่แก้มลิงกำหนดให้เป็นที่โล่ง ส่วนเขตที่กำหนดไว้เป็นชุมชนและอุตสาหกรรมตามผังเมืองรวมจังหวัด ควรมีระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม โดยการจัดทำผังน้ำมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 
เทศบัญญัติและข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ผังน้ำเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด
 “สทนช. และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมในวันนี้ ไปพิจารณาประกอบการศึกษาทางวิชาการและปรับปรุงผังน้ำให้มีความเหมาะสมและนำมารับฟังความคิดเห็นในการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ประมาณเดือนมกราคม 2566 ” ผู้แทน สทนช. กล่าวในตอนท้าย
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com