นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ชุมชนเกษตรไทยในปัจจุบันได้รับผลกรทบจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม ภัยแล้ง ส่งผลทำให้การผลิตได้รับความเสียหาย การเกิดวิกฤต รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การตลาดสินค้าเกษตรผันผวน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและกระแสโลกาภิวัฒน์ส่งผลทำให้ต้นทุนในการดำรงชีพสูงขึ้นและเกิดหนี้สิน เป็นต้น แนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหา รัฐบาลส่งเสริมให้มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้
กรมวิชาการเกษตร ในฐานะที่เป็นหน่วยงานวิจัยด้านพืชจึงได้สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการผลิตพืช โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา ได้ทำการวิจัยการนำหลักปรัชญามาปรับใช้ในการผลิตพืชของชุมชนเกษตร โดยได้มีการศึกษาในพื้นที่ชุมชนต้นแบบตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเกษตรกรพึ่งพาการทำนาแต่มีรายได้ไม่เพียงพอจึงต้องอาศัยการรับจ้าง การวิจัยได้ร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ 23 หลักทรงงาน มาใช้ในการผลิตพืชทั้งระบบ คือ
1) พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งโดยจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และพัฒนาฟาร์มต้นแบบ เช่น การปลูกดาวเรือง, ฝรั่ง, แพะและมะพร้าว, เกษตรทฤษฎีใหม่, ปลูกพืชบนร่องสวน และต้นแบบ GAP เป็นต้น
2) พัฒนา 9 พืชผสมผสานเพื่อความพอเพียง คือ พืชรายได้ในพื้นที่นาโดยปรับสภาพนาเป็นร่องสวนปลูกไม้ผลและพืชผัก, พัฒนาระบบการปลูกพืชในพื้นที่นาจากข้าวอย่างเดียวเป็นถั่วเขียวหรือข้าวโพดหวานหรือฟักทอง-ปอเทือง-ข้าว, พัฒนาพืชรายได้ที่เป็นพืชอัตลักษณ์ เช่น กล้วยรำแดง, การปลูกพืชอาหารในภาชนะต่าง ๆ, พืชสมุนไพรและแปรรูปเพื่อสร้างรายได้, พืชเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชร่วมกับการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน, พืชอาหารสัตว์, แฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ, ปอเทืองเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว, กะเรกะร่อนในกระถางเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น, ตะเคียน มะฮอกกานี แคนา และสนเพื่อใช้สอย พลังงานและเชื้อเพลิง
3) พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า โดยการแปรรูปสินค้า เช่น กล้วยฉาบน้ำตาลโตนด และการรับรองมาตรฐาน GAP
4) เชื่อมโยงการผลิตพืชกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน การตลาด การประชาสัมพันธ์, เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และการจัดเวทีวิจัยสัญจรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนและนอกชุมชน
การประเมินผลความสำเร็จในการจัดการผลิตพืชโดยใช้ศาสตร์พระราชาในตำบลรำแดง พบว่า ทำให้เกษตรกรมีระดับความพอเพียงในการดำรงชีพ หรือพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากการประเมินด้านสมดุลรายได้รายจ่าย ความมั่นคงทางอาหาร พืชกับความเป็นอยู่ในครอบครัว เพื่อนบ้าน และสังคม พืชกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ พืชกับความสุขมวลรวม ความมีภูมิคุ้มกัน ภาวะผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ภาวะแนวโน้มตามฤดูกาล ภาวะผลการกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานต่าง ๆ การสร้างภูมิคุ้มกันจากการเพิ่มต้นทุน/ทรัพย์สินในการดำรงชีพ ทุนมนุษย์ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ ทุนทางกายภาพ ทุนทางสังคม พืชกับความมีเหตุผล การใช้เหตุใช้ผล ความรอบรู้ ตรวจสอบติดตาม คุณธรรม ความเพียร การนำ 23 หลักทรงงานมาใช้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ภาคเกษตร 101,017 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากก่อนพัฒนา ร้อยละ 11 รายจ่ายทางการปลูกพืช ลดลงเหลือ 15,801 บาท/ครัวเรือน หรือลดลงร้อยละ 51 มีความหลากหลายของการผลิตพืชจากผลการพัฒนา 9 พืชผสมผสาน พบว่า มีจำนวนชนิดพืชในชุมชนเพิ่มขึ้นโดยก่อนพัฒนามี 132 ชนิด เพิ่มเป็น 152 ชนิด หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ผลงานวิจัยได้มีการนำไปขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดนักวิจัยท้องถิ่น/ผู้นำเกษตรกรไม่น้อยกว่า 100 คน จำนวนคนที่ได้รับถ่ายทอดความรู้ 4,219 คน จำนวนคนที่ได้รับการฝึกอบรม/หรือได้รับความรู้จากการจัดประชุมสัมมนา 2,000 คน และขยายผลสู่ชุมชนต้นแบบ 20 ชุมชนใน 4 จังหวัด
ผลการวิจัยและพัฒนาทำให้ได้นวัตกรรมรูปแบบการจัดการพืชที่นำไปสู่การพึ่งตนเองของเกษตรกรและชุมชน คือ “DOA โมเดล: การผลิตพืชตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาชุมชนเกษตรให้พึ่งตนเอง” โดยมี 4 เสาหลัก การพัฒนาดังนี้
เสาหลักที่ 1 พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนมีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตพืช และจะเป็นตัวเร่งให้การพัฒนาต่าง ๆ สำเร็จรวดเร็วยิ่งยิ่งขึ้น โดยมีวิธีการดำเนินงาน คือ 1) จัดตั้ง "กลุ่มเกษตรกร" จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เพื่อทำธุรกิจให้เกิดรายได้ 2) พัฒนาฟาร์มต้นแบบและพัฒนาเกษตรกรผู้นำ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนบ้าน ส่งเสริมความเป็นต้นแบบ ส่งเสริมความเป็นผู้นำ ส่งเสริมการประกวดเป็นเกษตรกรดีเด่น พัฒนาความสามารถในการเป็นผู้นำของประธานกลุ่ม กรรมการ และสมาชิก 3) จัดเวทีวิจัยสัญจร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตพืชในไร่นาเกษตรกร ร่วมพัฒนาไร่นา และจัดศึกษาดูงานเพื่อเปิดโลกทัศน์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหมุนเวียนกันไปในไร่นาเกษตรกรในชุมชน และนอกชุมชน
เสาหลักที่ 2 พัฒนา 9 พืชผสมผสานพอเพียง เพื่อให้มีพืชเพียงพอต่อการดำรงชีพที่พอเพียง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และพัฒนาระบบเกษตรผสมผสาน คือ 1) กลุ่มพืชรายได้ 2) กลุ่มพืชอาหาร 3) กลุ่มพืชอาหารสัตว์ 4) กลุ่มพืชสมุนไพรสุขภาพ 5) กลุ่มพืชสมุนไพรป้องกันกำจัดศัตรูพืช 6) กลุ่มพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ 7) กลุ่มพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น 8) กลุ่มพืชใช้สอย 9) กลุ่มพืชพลังงานและเชื้อเพลิง
เสาหลักที่ 3 พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่ารายได้เพิ่มขึ้น โดยมีวิธีการดำเนินงาน คือ 1) ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม มีขนาดมีรูปลักษณ์ดีมีรสชาติดี โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาจัดการผลิตพืชให้มีประสิทธิภาพ 2) ขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เช่น GAP หรือ อินทรีย์ หรือ GI 3) พัฒนาการแปรรูปสินค้า ที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งขั้นพื้นฐาน และขั้นสูง 4) พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การหีบห่อ ให้เหมาะสมกับในแต่ละตลาดผู้บริโภค 5)สร้างตราสินค้า สร้างแบรนด์สินค้า สร้างความน่าเชื่อถือในสินค้า เพื่อจำหน่ายคุณค่าและเรื่องราวที่น่าสนใจในสินค้า
เสาหลักที่ 4 เชื่อมโยงการผลิตพืชกับการท่องเที่ยวชุมชนและเครือข่ายการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อดึงพลังจากภายนอกชุมชน หรือพลังจากภาคนอกเกษตร เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการผลิตพืช โดยมีวิธีการดำเนินงาน คือ 1) เชื่อมโยงการเกษตรของชุมชนกับการจัดการท่องเที่ยวชุมชน พัฒนาไร่นาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เรียนรู้ศึกษาดูงาน และการเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน 2) บูรณาการงานเกษตรของชุมชนกับงานทางวิชาการและงานส่งเสริม เช่น ของหน่วยงานกระทรวงเกษตร ท้องถิ่น พัฒนาชุมชน งานการด้านการจัดการศึกษานอกระบบ และสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนต่าง ๆ 3) เชื่อมโยการผลิตกับการตลาด ผู้ประกอบการตลาดสินค้า ผู้รวบรวมสินค้า พัฒนาตลาดชุมชน ตลาดสัญจร ตลาดออนไลน์ และตลาดอื่น ๆ 4) เชื่อมโยงชุมชนกับภาคอื่น ๆ เช่น สื่อสารมวลชน
นวัตกรรม “DOA โมเดล: การผลิตพืชตามศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาชุมชนเกษตรให้พึ่งตนเอง” นี้ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการผลิตพืชของชุมชนเกษตรให้พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนได้ทั่วประเทศ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา