สภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือสร้างความต่างสินค้า ลั่น “ไม่สีขายจนกว่าจะมีออเดอร์” ข้าวที่ขายต้องสดและใหม่เท่านั้น

 นายประพัฒน์  ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บริการประมูลข้าวกลุ่มเกษตรกรและเครือข่ายสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระหว่าง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยนายรัตนะ  สวามีชัย เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับ บริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด โดย นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการ ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด ด้วยเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายคืออยากเห็นการปรับตัวของเกษตรกรและบุคลากรด้านการเกษตรมีความรู้เรื่องข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรือตลาดออนไลน์ ซึ่งก่อนหน้าการลงนามครั้งนี้นั้นได้มีการทดลองปฏิบัติการร่วมกันระยะหนึ่งกับกลุ่มชาวนาในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ และนครศรีธรรมราชมาแล้วประสบความสำเร็จด้วยดี และอยากขยายผลสำเร็จออกไปจึงลงนามความร่วมมือกันเพื่อทำให้ตลาดสินค้าข้าวออนไลน์ได้กระจายออกไปให้กว้างขวางเป็นที่ประจักษ์ ด้วยข้อตกลงตรงกันว่า “ข้าวที่เก็บไว้ในสต๊อกจะยังไม่สีจนกว่าจะมีออเดอร์เข้ามา เพราะเราอยากเห็นผู้บริโภคได้บริโภคข้าวที่สีใหม่และสด” ไม่สีเก็บ การันตีสินค้าไม่มีมอดหรือแมลงปนเปื้อน สินค้าข้าวจะเป็นสินค้านำร่องแล้วจะขยายผลไปยังสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ผลไม้  เป็นต้น  ทั้งนี้ เพราะอยากจะเห็นการปรับตัวของเกษตรกรไทยให้ใช้งานจากระบบดิจิทัลได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการประกอบอาชีพของตนเองรวมถึงการตลาดด้วย ในข้อตกลงจะมีการพัฒนาบุคลากรของสภาเกษตรกรแห่งชาติและสภาเกษตรกรจังหวัดเพื่อนำความรู้ไปกระจายถ่ายทอดต่อเกษตรกร เมื่อเกษตรกรมีความรู้และปฏิบัติการได้แล้วก็จะสามารถกระจายถ่ายทอดต่อไปยังพี่น้องเกษตรกรข้างเคียงให้ได้รู้และเข้าใจด้วยเช่นกัน

“เราต่างก็ฝันว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเกิดการปรับตัวในเรื่องของการนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ภาคการเกษตรให้มากขึ้น พี่น้องเกษตรกรจะได้มีความรู้เรื่องดิจิทัลให้มากขึ้น ประกอบกับช่วงนี้ลูกหลานพี่น้องเกษตรกรก็กลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่เยอะ จะได้ถือโอกาสนี้ปลูกฝังให้มีความร่วมมือกันในการพัฒนาเรื่องระบบดิจิทัลในการผลิต ทั้งเรื่องข้อมูลข่าวสาร Big Data เรื่องการจัดการ การผลิต การตลาด  ถือเป็นเรื่องดีเป็นก้าวแรกที่เราได้เริ่มขยับขยาย  ที่จริงนั้นสินค้าเกษตรนั้นขายออนไลน์มามากแล้วแต่ส่วนใหญ่ก็จะขายผ่านแอปพลิเคชันอื่นๆ แต่ครั้งนี้เรามีแอปพลิเคชันของเราเอง ความคล่องตัวก็จะมากขึ้น ที่สำคัญก็คือเราขายสินค้าเกษตรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีคอมมิชชั่น เพราะทั้งหมดจะโอนเงินผ่านศูนย์กลางแล้วกระจายไปถึงพี่น้องชาวนาเลย  นอกจากนี้ชาวนาทุกคนก็พร้อมใจกันนำเงินจากการขายส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนเล็กๆเพื่อจะเอามาบริหารกันเอง ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นรวมทั้งมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆเพราะเชื่อว่าทุกคนพยายามดิ้นรนที่จะพึ่งตนเองโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้อยู่รอดในทุกสภาวการณ์ ” นายประพัฒน์  กล่าว

ขณะที่ นายณรงค์  คงมาก กรรมการผู้จัดการบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด (SE ปากพนัง) กล่าวเสริมว่า บ.SE ปากพนัง วิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ด้วยเจตนารมณ์และแนวทางที่ชัดเจนว่าเราทำงานเพื่อสังคม 100% จะไม่มีการปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น กำไรจากการประกอบการจะนำไปจัดตั้งกองทุนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และกองทุนพัฒนาสวัสดิการนักจัดการตลาดชุมชน พัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนาสร้างระบบสวัสดิการให้กับทั้งฝ่ายคนผลิตและฝ่ายผู้บริโภค ระบบนิเวศเศรษฐกิจข้าวและชาวนา คือ การสร้างและจัดความสัมพันธ์ใหม่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งชาวนา ผู้บริโภค และภาคีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ข้าวให้มีความเป็นธรรม เพื่อให้ชาวนา ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบระบบตลาดแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ชาวนาซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดการเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนทรัพยากรปัจจัยสี่ ปัจจัยการผลิตระหว่างกัน รวมทั้งผู้บริโภคที่ประกอบอาชีพอื่นๆได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการตลาดแบบใหม่  ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจข้าวและชาวนาจะได้ตระหนักถึงการ “อยู่ได้ทางเศรษฐกิจของชาวนา”    โดยระบบนิเวศนี้จะเริ่มจาก ครัวเรือน องค์กร กลุ่มชาวนา  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรระดับนโยบาย เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ ส่วนราชการและภาคเอกชนทุกข้อต่อในห่วงโซ่เศรษฐกิจข้าว ทุกระดับจากแปลงนาจนถึงประชาคมโลก ทั้งนี้แพลตฟอร์มที่ SE ปากพนัง พัฒนาขึ้นในนามของคนไทยดอทคอม หรือ www.konnthai.com  เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่ทั้งการจัดการระบบงานทั้งหน้า-หลังร้าน ขายผ่านระบบแอปพลิเคชัน ANT ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะทำให้ระบบนิเวศเศรษฐกิจชุมชนเกิดขึ้น โดยเกษตรกรจำเป็นต้องสร้างระบบข้อมูลครัวเรือน การเพาะปลูก การตลาดซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกได้เองในแพลตฟอร์มและอยู่ภายใต้กฎหมาย PDPA และเป็นข้อมูลเพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ค้าส่ง โรงสี โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น สามารถรู้ข้อมูลรายครัวเรือนล่วงหน้าเพื่อวางแผนการจัดการรวมทั้งความชัดเจนเรื่องการตลาดของข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่เน้นเป็นข้าวปลอดภัยและข้าวอินทรีย์ รวมทั้งคุณภาพทางวิทยาศาสตร์จะมีรายงานเป็นรายแปลงให้ ซึ่งข้อนี้ผู้ประกอบการจะไม่เคยไม่รับข้อมูลมาก่อน เช่น ข้าวพันธุ์ปน สิ่งเจือปน ความชื้น การวิเคราะห์-วิจัย ก่อน-หลังเก็บเกี่ยว เพื่อส่งให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาประมูล ตกลงราคา จับคู่ซื้อขาย  โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าแพลตฟอร์มได้ฟรี แต่จะมีเงื่อนไขเรื่องค่าธรรมเนียมในกรณีเมื่อตกลงซื้อขายในราคาสินค้าล็อตใหญ่และจะโอนคืนกลับให้เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวง และรับประกันคืนเงินหากสินค้ามีปัญหา

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com