พช อวดโฉมผ้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไทยแห่อุดหนุน 6วัน กวาดรายได้100 ล้าน

 ผ่านไปแล้ว 6 วัน สำหรับ “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2565   “พช.” ปลื้มหนักกระแสผ้าไทยฟีเวอร์ 6 วันทำยอดขายพุ่งทะลุ 115 ล้าน ฉลอง “วันผ้าไทยแห่งชาติ”  ปีแรก โดยเฉพาะโซนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ มีผู้ที่ชื่นชอบผ้าไทยเข้ามาอุดหนุนอย่างคึกคักตลอดทั้งวัน  ในขณะโซนโอทอปชวนชิม-อาหารสร้างรายได้ให้พ่อค้า-แม่ค้ากว่า 37 ล้าน

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ประกอบการโอทอปที่นำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายในงาน “ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” ปี 2565 ที่กรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม 2565  ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งภายในงานบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคักมีประชาชนเข้าเยี่ยมชมงานอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน

นายสมคิด  จันทมฤก  อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  กล่าวว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และคนไทยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดี แต่รู้สึกภาคภูมิใจแทนผู้ประกอบการโอทอป ทั้ง 2,000 รายที่ได้รับการอุดหนุนอย่างอบอุ่นจากคนเมืองและประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียง  โดยเฉพาะปีนี้ พช.ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริม ”ผ้าไทย “ ซึ่งมีอัตลักษณ์ไทยที่แสดงถึงอัตลักษณ์และสะท้อนมรดกภูมิปัญญาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ อันโดดเด่นของแต่ละจังหวัดรวบรวมมาไว้ในงานกว่า  30,000 ผืนให้ทุกคนได้เลือกซื้อเลือกชม ซึ่งแนวทางของพช.ถือว่าสอดคล้องกับมติครม.ที่เห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน ได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์มายาวนานให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

 “ในรอบ 6 วันที่ผ่านมา สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอุดหนุนจากประชาชนมากที่สุด คือสินค้าหมวดผ้า ทำยอดขายสูงสุดคิดเป็นมูลค่ากว่า 115 ล้านบาท  รองลงมาคือหมวดอาหารและชวนชิมทำยอดขายรวมกันมากถึง 37.6 ล้านบาท  นั่นแสดงให้เห็นว่ากระแสผ้าไทยกำลังกลับมาเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยอีกครั้ง ภูมิใจที่คนไทยเห็นคุณค่าและสนับสนุนคนไทยด้วยกัน   ซึ่งนอกจากจะมีผ้าไทยที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยด้วยกันแล้ว คนไทยยังชื่นชอบอาหารไทยอีกด้วย  รับรองว่ามางานนี้ เพียงงานเดียวได้ทานของกินอร่อยครบทุกภาค  เพราะเรายกทัพอาหารของดีทุกภาคมาไว้ในโซนโอทอปชวนชิมกว่า 164 ร้านค้า”  นายสมคิด  กล่าว 

สำหรับ  ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในงาน คือเกือบ 115 ล้าน    นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ความนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบผ้าไทยอย่างคึกคักตลอด 6 วัน   โดยเฉพาะโซนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ  เนื่องจากผ้ามีความสวยงาม และมีให้เลือกหลากหลาย จำหน่ายในราคาตั้งแต่หลักสิบถึงหลักพัน  ตลอดวันมีประชาชนแวะเวียนเลือกซื้อหาสินค้ากันไม่ขาดสาย นอกจากนี้ ในส่วนของโซนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทย ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โซนผ้าไทยใส่ให้สนุก โซนตลาดกลางเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ และโซน First Lady

นอกจากผ้าไทยที่นำมาจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์แล้ว ยังมีผ้าไทยที่มีความสวยงามและทรงคุณค่าที่สร้างความตะลึงให้กับผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก คือผ้าไทยที่โชว์อยู่โซนศิลปินโอทอป มีมูลค่าสูงถึงผืนละ4 แสนบาท ของนายณกรณ์  ตั้งหลัก  ศิลปินโอทอป ปราชญ์หม่อนไหม (ด้านฟอกย้อมสีธรรมชาติ สาขาย่อย ย้อมครั่ง)  โดยผ้าผืนดังกล่าวเป็น “ ผ้ายกลายเทพพนม” ผู้ทอคุณยายสุมิตรา ทองเภ้า ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี2565 อายุ 76 ปี เป็นผ้ายกลายโบราณ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากคุณยายพยอม สีนะวัฒน์ ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งผ้าไหมไทย และสามารถประยุกต์ลวดลายต่างๆ ผ้าขิดและผ้าโบราณ เพื่อใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น ทอเป็นผ้าห่ม ฯลฯ

ผ้ายกลายเทพพนม เป็นลวดลายอัตลักษณ์ในรูปแบบที่มีความเป็นอีสาน เหลี่ยมมุมลวดลายที่แตกต่างจากท้องที่อื่น ผ้ายกลายเทพพนมผืนนี้ ทอด้วยเส้นไหมพันธุ์พื้นบ้าน ย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีสีครั่งเป็นสีหลัก จังหวัดมหาสารคาม มีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไหม และผู้เลี้ยงครั่งเพื่อย้อมเส้นไหมอันดับต้นๆของประเทศ สีครั่งถือว่าเป็นสีประจำท้องถิ่น โดยมีแนวคิดให้ในการส่งเสริม “มหาสารคาม มหานครแห่งครั่ง ราชาแห่งสีย้อมไหม”

นอกจากนี้  ที่สร้างความสนใจและฮือฮาไม่น้อยไปกว่ากัน คือผ้าโบราณอายุราว 100-120 ปี ของศูนย์การเรียนรู้ผ้าปะลางิงจังหวัดยะลา ที่จัดโชว์ในโซนศิลปินโอทอป  ซึ่งอาจารย์ปิยะ สุวรรณพฤกษ์  ประธานกลุ่มศรียะลาบาติก  (ศูนย์เรียนรู้ผ้าปะลางิง จังหวัดยะลา) ได้นำมาโชว์ในงาน  อาจารย์ปิยะเล่าว่า ผ้าแต่ละผืนมีมูลค่าหลากหลาย ตั้งแต่หลักหมื่นไปถึงหลักแสน อาทิ ผ้าจวนตานี ชุดนี้มีหลากหลายสกุลช่างในท้องถิ่น เป็นผ้ามัดหมี่ นิยมใช้กันมากในกลุ่มชนชั้นสูงของเมืองปัตตานี และเมืองใกล้เคียง ลักษณะการทอใช้เส้นใยเล็กละเอียด เรียกว่าไหมน้อย โดยการทำมี  2  ลักษณะ คือการทำด้วยการมัดหมี่ทั้งผืน  การทอยกและผสมกับการมัดหมี่ การทอยกดอกจะมีหลากหลายลวดลาย เช่น ลายดวงดาว ลายดอกไม้ ลายดวงอาทิตย์ ลายตะเกียงทอง เป็นต้น

 

ส่วนผ้าลิมาซองเก็ต  เป็นผ้าที่ตกทอดจากลูกหลาน(มณฑลปัตตานี) ลักษณะทอสอดเส้นทอง ที่เรียกว่า มัสจันตง ใช้ในงานพิธีสำคัญ    ผ้าปะลางิง (เปลังงี)  ชุมชนท้องถิ่นจะเรียกว้าผ้าสายรุ้ง เพราะมีหลากหลายสีในผ้าผืนเดียวกัน เป็นผ้าที่พบในคาบสมุทรมลายู โดยมีลักษณะวิธีการทำแบบเดียวกับผ้ามันดาห์นาส์ของอินเดีย คือ ทอ มัดจุด เนา รูด ย้อม พิมพ์ เพ้นท์ ผ้าบางผืนที่พบมีการผลิตในพื้นที่ภาคใต้ แต่ลดขั้นตอนในการทำผ้า (ยะลา ปัตตานี)แม่พิมพ์ใช้การแกะไม้เป็นการสร้างลวดลาย ประกอบผสมกับการมัดย้อมสีที่ใช้  มีทั้งสีธรรมชาติและสีเคมี

นอกจากนี้ ในส่วนของโซนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยไม่ว่าจะเป็น โซนผ้าไทยใส่ให้สนุก โซนตลาดกลางเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ และโซน Frist Lady และโซนอื่นๆ อาทิ  ผลิตภัณฑ์ OTOP : KBO / OTOP Brand name / OTOP Premium / OTOP Trader / OTOP ชวนชิม รวมถึงผักและผลไม้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน

 “การจัดงานมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว   ผมขอเชิญชวนทุกท่านมาชม ชิม ช้อป  และร่วมภาคภูมิใจไปกับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะผ้าไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP โดยงานจะมีไปถึง 20 สิงหาคมนี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3  เมืองทองธานี ครับ” นายสมคิด จันทมฤก กล่าว

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com