กสศ. เสวนาทางวิชาการผ่าทางออกประเทศ ถึงเวลาแล้วหรือยัง?ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี

 “กสศ.”ระดมเกจิด้านแวดวงศึกษาร่วมเสวนาทางวิชาการผ่าทางออกประเทศ “ถึงเวลาแล้วหรือยัง?ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี”  ชี้เป้ารัฐเร่งทบทวน ปรับปรุงนโยบายเรียนฟรีเพื่อขยายโอกาสแก่เด็กยากจนเด็กด้อยโอกาสและนักเรียนทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงการได้รับการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม  พร้อมปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการสู่ทางออกประเทศ “ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ? ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี” ผ่านทาง Facebook Live เพจ กสศ.ขึ้น    เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทางออกการศึกษาไทยด้านปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี” นำโดยผู้เชี่ยวชาญวงการศึกษาชั้นนำ  อาทิ รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ   ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความ​เสมอภาคทางการศึกษา   รศ.ดร.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติและดร.ปฏิมา  จงเจริญธนาวัฒน์    นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ดร.ภูมิศรัณย์   ทองเลี่ยมนาค     รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา   เปิดเผยผลการวิจัยพบว่า ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของครัวเรือนที่มีฐานะยากจน 10% ล่างในกรุงเทพฯ ต่างจากครอบครัวรวยสุด 10% แรกถึง 12 เท่า โดยภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนยากจนเฉลี่ยอยู่ที่ 6,600 บาทต่อปี แยกเป็นค่าเล่าเรียน 3,000 บาท ค่าเครื่องแบบ 600 บาท ค่าหนังสือและอุปกรณ์ 500 บาท ค่าเดินทาง 2,500 บาท  ขณะที่ครอบครัวร่ำรวย มีภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ยปีละ 78,200 บาท เป็นค่าเล่าเรียน 59,000 บาท ค่าเครื่องแบบ 3,000 บาท ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน 4,200 บาท และค่าเดินทาง 12,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงเสนอ 5 ประเด็น แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปรับสูตรจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ  บูรณาการฐานข้อมูลเพื่อจัดสรรงบประมาณแบบตรงตัวนักเรียน  เพิ่มทรัพยากรทางการศึกษา  อุดหนุนสวัสดิการสังคมเพิ่มคุณภาพชีวิต และยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ    ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงการเดินหน้าโจทย์สำคัญ BIG ROCKS ที่1 ถึงเวลาปฏิรูปนโยบายเรียนฟรีว่า  แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มุ่งเน้นกิจกรรมปฏิรูป ( 5 Big Rocks) ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ดังนั้นเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย และป้องกันเด็ก เยาวชนออกจากระบบการศึกษา โดยหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลที่ตอบโจทย์ Big Rocks ที่ 1 คือ โครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพซึ่งประเทศไทยมีโครงการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพ

ดังนั้น  ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ใน หมุดหมายที่ 9 จึงได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ผ่านการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาในการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พร้อมทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงโครงการเรียนฟรี 15 ปีให้แก่คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระทรวงศึกษาธิการรวมทั้งได้มีการปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังจากไม่มีการปรับมามากกว่า 13 ปีแล้ว  

 

รศ.ดร.ชัยยุทธ  ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์  อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ   กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนว่า  มีเป้าหมายนักเรียน 1,923,6628 คน คิดเป็นงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ 3,319,924,600 บาท  มีข้อเสนอปรับปรุง 2 แบบ โดยแบบที่ 1 เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ให้จัดสรรเป็นรายบุคคล โดยเพิ่มระดับอนุบาล ในอัตรา 1,000 บาท ต่อคน รวม 240,553 คน ใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท และระดับม.ปลาย เฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4   หัวละ 9,000 บาท รวม 28,382 คน ใช้งบประมาณ 255 ล้านบาท ซึ่งเดิมจัดสรรเฉพาะระดับประถมศึกษาถึงม.ต้นเท่านั้น  ส่วนแบบที่ 2 เป็นการปรับอัตราอุดหนุนระดับ ม.ต้น เป็น 4,000 บาทต่อคน รวม 584,620 คน ใช้งบประมาณ 2,338 ล้านบาท จากเดิมอุดหนุนรายละ 3,000 บาทต่อปี  ทั้งนี้การปรับเพิ่มอัตราอุดหนุนให้เพียงพอสำหรับโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะทำให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพและเพิ่มความเป็นธรรมให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กที่ตกหล่นหรือหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคนและภาวะเรียนรู้ถดถอยลงเรื่อยๆ

ทั้งนี้ นโยบายเรียนฟรีหรือโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน   มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพทั่วประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการใช้งบประมาณในการดำเนินการในปี 2564 เป็นวงเงิน 76,165.35 ล้านบาท    คิดเป็นอัตราอุดหนุนรายหัวสำหรับโรงเรียนปกติตามนโยบายเรียนฟรีระดับก่อนประถม2,830/คน ระดับประถม3,563/ คน  ระดับมัธยมต้น5,919/คน และระดับมัธยมปลายสายสามัญ 6,607 /คน  ทั้งนี้ผลของการศึกษาของสภาการศึกษาชี้ว่า  ค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบไม่เพียงพอสำหรับผู้ปกครองทำให้มีภาระมากขึ้น   ค่าจัดการเรียนการสอนและค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไม่เพียงพอ  เพราะค่าใช้จ่ายของโรงเรียนหลายด้านสูงขึ้นในช่วงโควิดและราคาของที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ  ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราอุดหนุนให้เพียงพอสำหรับโรงเรียนนับเป็นหลักสำคัญเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ  ซึ่งหากรัฐไม่ประสงค์ให้มีการเรียกเก็บเพิ่มเติมจากผู้ปกครอง   รวมทั้งควรปรับเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้มากขึ้น  เนื่องจากยังมีเด็กที่ตกหล่นหรือหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคนมีภาวะเรียนรู้ถดถอยโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี การจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนมี 3 ด้านด้วยกันคือ  1.กำหนดให้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายการให้เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในโครงการเรียนฟรี 15 ปีซึ่งเดิมจัดสรรเป็นรายบุคคลเฉพาะระดับประถมศึกษา-ม.ต้น   ข้อเสนอใหม่ควรจัดสรรเป็นรายบุคคลเพิ่มอนุบาลและม.ปลายเฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษม.4     2.ปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาซึ่งอัตราเดิมใช้มาตั้งแต่ 12 มิย.2550   เดิมอัตราเดิมม.ต้นกำหนดอยู่ที่คนละ3,000บาท/ปี  อัตราใหม่ ม.ต้น คนละ 4,000 บาท/ปี   ม.ปลาย คนละ9,000บาท/ปีเฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4 และแนวทางที่ 3 คือปรับปรุงรูปแบบเป็นการจัดสรรเงินแบบมาเงื่อนไขแก่ครัวเรือน  โดยกำหนดให้นักเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนต้องมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80-85% และติดตามพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามช่วยเหลือเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาไทย

ในขณะที่ดร.ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงทางออกของการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแผนพัฒนาฯ 13  ว่า    แม้ว่าปัจจุบันปัญหาความยากจนข้ามรุ่นจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ  65.2 ในปี 2531 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 หรือ 4.8 ล้านคนในปี 2563  แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังติดอยู่ในกับดักความยากจนจนมีแนวโน้มส่งต่อไปยังความยากจนไปถึงลูกหลาน  โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติสถานการณ์ของโควิด-19  มีการวิเคราะห์กันว่าโอกาสในการหลุดพ้นความยากจนลดลงเนื่องจากมีการว่างงานที่เพิ่มขึ้น  มีหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น  ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นตามตัว

จากสถานการณ์ดังกล่าวรัฐได้ปักหมุดกำหนดให้ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลงและมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ  โดยวางเป้าหมาย  2 ด้านคือ 1.เพิ่มโอกาสให้ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นหลุดพ้นความยากจนแบบยั่งยืน         อาทิ  กำหนดสัดส่วนของเด็กปฐมวัยในครัวเรือนจนข้ามรุ่นที่มาพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์ลดลงร้อยละ 20  อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับของเด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นระดับม.ต้นไปต่ำกว่าร้อยละ 100และม.ปลายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70  เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเติบโตไปเป็นแรงงานที่มีทักษะหรือเรียนจนจบอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นในปี 2566หลุดพ้นความยากจนภายในปี 2570   2.จัดความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ ต่อการดำรงชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย 

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com