กรมวิชาการเกษตร กับการรับมือความมั่นคงทางอาหารในสินค้าอ่อนไหวที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า สถานการณ์ด้านการขาดความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบันที่กำลังส่งผลทั่วโลก ทำให้บางประเทศที่เคยส่งออกอาหารกลับไม่มีนโยบายในการส่งออกสินค้าบางชนิด ที่เป็นต้นทุนอาหาร วัตถุดิบอาหารสัตว์ และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ

บทบาทหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องพืชพรรณธัญญาหารที่ส่งออกเป็นหลัก จะต้องวางกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์อย่างไรในเรื่องความมั่นคงและความไม่มั่นคงทางอาหาร ราคาสินค้าเกษตร อาหาร และ ปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น และเรื่องเงินเฟ้อ มีศัพท์ใหม่ food inflation (ภาวะราคาอาหารเฟ้อ) ซึ่งน่าตกใจพอสมควร

กรมจึงอยากที่จะรับฟังจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกรมจะได้เตรียมความพร้อมทำงานรับมือ ซึ่งกรมจะมีการจัดประชุมเสวนางานวิชาการ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณ ปี2567 การปรับงบประมาณต่าง ๆ ในโครงการ การจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่จะทำงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร

นอกจากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะขับเคลื่อนวาระด้านความมั่นคงทางอาหารในเวทีสากล เช่น ในการประชุม Asian seed conference การประชุม APEC และ การประชุมในเวทีต่าง ๆ ของ UN/FAO เป็นต้น ที่จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม  (FAO, IFAD, WFP) และผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ณ กรุงโรม กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก ได้ปรากฏเด่นชัดในปี 2565 ที่พบว่าดัชนีอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 40% ดัชนีอาหารคำนวณมาจากธัญพืช น้ำมันพืช น้ำตาล เนื้อสัตว์ และนม เป็นต้น ในเวทีโลกกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นนี้

ซึ่งผลกระทบจากที่เกิดขึ้นมากเนื่องจากรัสเซียและยูเครน เป็นแหล่งผลิต ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ มันฝรั่ง น้ำตาล เมล็ดทานตะวัน และถั่วเหลือง อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และรัสเซียยังเป็นแหล่งส่งออกแม่ปุ๋ยสำคัญของโลกด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทำให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารพุ่งสูง อาหารสัตว์แพงขึ้น แต่ละประเทศจึงดำเนินนโยบายพึ่งตนเอง มาผลิตให้เพียงพอและลดการส่งออกหรือระงับการส่งออกสินค้าบางชนิด ซึ่งปัญหานี้คาดว่า จะมีไปอีก 2-3 ปี และแต่ละประเทศจะปรับนโยบายเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ข้อเสนอ คือ ไทยเราจึงควรการเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่การพึ่งตนเอง พัฒนาสร้างความแข็งแกร่งในประเทศ นำเข้าให้น้อยลง ทบทวนเรื่องการพึ่งการนำเข้าที่เห็นว่าได้ราคาถูกกว่าการผลิตเองในประเทศ มาเป็นการพึ่งการผลิตเองในประเทศ พัฒนาให้มีความหลากหลายของอาหาร ไม่ยึดติดกับชนิดพืชที่เป็นกระแสหลักที่โลกทำการค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว พัฒนาการปลูกแบบหมุนเวียน และควรมีการทำความตกลง หาสมดุลระหว่างอกชนกับเกษตรกรในเรื่องราคาผลผลิตให้มีเสถียรภาพ


คุณอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ให้ข้อคิดว่า จีนดำเนินนโยบายการพึ่งตนเองมานาน และปัจจุบันยังมีนโยบาย Zero covid และยังล็อกดาวเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เมื่อรวมผลกระทบจากภาวะสงครามภาวะภัยธรรมชาติ โรคระบาดสัตว์ ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ต่อระบบการขนส่งที่ต้องใช้เวลานานขึ้น ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งที่แพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกอาหารในอนาคต นอกจากนั้น ประเทศจีน มีการประกาศนโยบายจำกัดการส่งออกสินค้าบางรายการเพื่อสงวนไว้ในประเทศ เช่น ธัญพืช ปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งจะทำให้เกิดการเก็งกำไร ราคาพลังงานแพง ปุ๋ยแพง อาหารแพง ข้อเสนอ คือ ไทยเราควรพัฒนานำงานวิจัยหรือแนวทางที่จะเอามา สนับสนุนเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อลดต้นทุน การใช้เครื่องจักรกล ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการผลิต เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

คุณสรงฤทธิ์ เมฆานุรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหนองธงฟาร์มจำกัด  กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ คือต้นทุนอาหารสัตว์ราคาแพงขึ้น  เนื่องจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ที่ราคาแพงขึ้น โดยวัตถุดิบที่สำคัญ คือ คาร์โบไฮเดรต เช่นจาก ข้าวโพด โปรตีนจากกากถั่วเหลือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อาหารสัตว์ในภาคใต้ ที่โรงงานต้องขนวัตถุดิบจากภาคกลาง ทำให้ต้นทุนการ ผลิตจากการขนส่งแพงกว่าภาคกลาง 1,200-1,500 บาท/ตัน ภาคใต้มีสภาพ ภูมิอากาศที่เหมาะสมจึงน่าจะมีการพัฒนาสร้างความมั่นคงทางอาหารด้านนี้ ข้อเสนอ คือ การส่งเสริมให้มีการปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในภาคใต้ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ในพื้นที่นาร้าง ในพื้นที่ดินของหน่วยงานรัฐที่มีมากมายที่ควรสร้างความร่วมมือกัน การศึกษาชนิดพืชอื่น ๆ ที่จะมาทดแทนคาร์โบไฮเดรตจากข้าวโพด และทดแทนโปรตีนจากกากถั่วเหลือง และรัฐบาลควรมีนโนบายที่จะจัดให้เกิดความสมดุลและเกิดเสถียรภาพด้านวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนอาหารสัตว์

คุณกัลยา เนตรกัลยามิตร ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมพาณิชย์สามัคคีเชียงใหม่ "หลักการ คือ no seed- no grain- no market- no food" การพัฒนาพืชให้พึ่งตนเองได้ต้องทำให้ครบวงจร เริ่มตั้งแต่นโยบายกรมในการให้ความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณ ตัวอย่างเช่น ในถั่วเหลือง ที่ต้องนำเข้าถึง 99% เราต้องเริ่มจากพัฒนาเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ซึ่ง seed center พิษณุโลกมีความพร้อมมากมีมาตรฐานระดับสากล และควรพัฒนา ศวม. เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ให้ได้ มาตรฐานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้มี grain ให้เพียงพอ พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ หาวิธีการที่จะกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น นำเครื่องมือ นำความรู้ มาทำการผลิตให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิตตามความต้องการของตลาด และเรื่องกลไกการกำหนดราคาที่เหมาะสม รวมทั้งการขยายการปลูกเป็นพืชหลังนา เช่น ระบบปลูกข้าว-ถั่วเหลือง-ถั่วเขียว เป็นต้น

ศ.ดร.อรรถชัย จินตะเวช ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำแนะนำว่า  กรมวิชาการเกษตรควรทำการวิจัยและพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร โดย เริ่มจากกรมควรตั้งคณะทำงานแผนงานวิจัย ววน. ด้านความมั่นคงทางอาหาร ระดมความเห็นให้รอบด้าน ทำกรอบแผนงานวิจัย สร้างความร่วมมือกับชุมชน สร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลพืช ฐานข้อมูลชุมชน ฐานข้อมูลทรัพยากรดิน จัดทำโครงการของบ สวก. และที่สำคัญคือการสร้างทีมวิชาการให้แข็งแกร่ง 

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com