ไทย-จีน จ่อถกส่งออกผลไม้ผ่านเส้นทางบก เรือ อากาศ ในเวทีประชุม JTC-SPS เมษานี้

 ไทย-จีน จ่อถกส่งออกผลไม้ผ่านเส้นทางบก เรือ อากาศ ในเวทีประชุม JTC-SPS เมษานี้ หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด-19 ขณะที่เส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน มีความพร้อมรองรับการให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร หากเปิดใช้งานเต็มศักยภาพ            

 

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ไทยและจีนได้มีแผนการจัดประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านเทคนิค (JTC-SPS) ภายใต้บันทึกความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย และ สำนักงานศุลกากร แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) รวมทั้งการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิค โดยมีเลขาธิการ  มกอช. เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมงและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในจีนด้วย

 

ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหยิบยกถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและการเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันสินค้าผลไม้ไทยส่งออกไปยังจีนไปทางเส้นทางต่างๆ ทั้งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมตรวจสอบโควิดของจีน ดำเนินการอย่างเข้มงวดกับอาหารนำเข้าจากทุกประเทศ รวมทั้งมีแผนการเจรจาเพื่อการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรของไทยว่า มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน เป็นไปตามเงื่อนไขที่จีนกำหนด ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องเพิ่มความเคร่งครัดในการป้องกันการปนเปื้อนของสินค้าตลอดเส้นทาง และต้องสร้างความเข้าใจในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจากจีนได้มีการตรวจประเมินในสินค้า Cold Chain รวมถึงสวนและโรงคัดบรรจุสินค้าผลไม้มาอย่างต่อเนื่อง และยังคงความเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าที่ผ่านห่วงโซ่ความเย็นเป็นอย่างมาก ในช่วงนี้ผู้ส่งออกควรติดตามข้อมูลการเปิดปิดด่านนำเข้าของจีน เพื่อสามารถเลือกใช้เส้นทางขนส่งที่สะดวกและมีปัญหาความแออัดน้อยที่สุด

 

นายพิศาล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ไทยยังได้เตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-จีน-ลาว ซึ่งเป็นคณะทำงานฯ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ทำหน้าที่ในการเสนอแผนปฏิบัติการ (Action Plans) ระยะสั้น (ปี 2565) ระยะกลาง (ปี 2566-2570) และระยะยาว (ปี 2571-2580) โดยได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟแบบเต็มรูปแบบใน 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก (2) การพัฒนาบุคลากร/เจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการให้บริการ (3) การพัฒนาและเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร และ (4) กฎ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติเพื่อรองรับการให้บริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร ณ จุดผ่านแดน พร้อมกันนั้นยังได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่การจัดตั้งจุดให้บริการสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ สินค้าพืช สินค้าประมง และสินค้าปศุสัตว์ แบบ One-Stop Service ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนยุทธศาสตร์ชาติข้อที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าการจัดตั้งจุดให้บริการแบบ One-Stop Service จะพร้อมให้บริการในปี 2571 ซึ่งเป็นปีที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายไทย-จีน-ลาว ได้อย่างเป็นทางการ

 

ปัจจุบันการให้บริการการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของกระทรวงเกษตรฯ ณ ด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ เนื่องจากสินค้านำเข้า-ส่งออกยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน มีความพร้อมรองรับการบริการอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าผู้ประกอบการจะใช้บริการด่านหนองคายสำหรับเป็นจุดนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทย-ลาว-จีน ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบรับรองของกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการเพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกดังกล่าวให้แก่ภาคเอกชน โดยบรรจุไว้ในแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีนเรียบร้อยแล้ว

 

“อย่างไรก็ดี หากเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีน มีการเปิดใช้งานเต็มศักยภาพ กระทรวงเกษตรฯ มีแผนเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการนำเข้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นจุดตรวจปล่อยสินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ รองรับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นจุดตรวจร่วมสำหรับส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง ตลอดจนพัฒนาพื้นที่เป็นจุดตรวจ Custom Immigration Quarantine-CIQ ในการตรวจสอบสินค้าเกษตรให้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าว

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า
www.taekpradennews.com
www.taekpradennews.com