สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีบรรเลงเพลงพื้นบ้าน ฟื้นเมืองเชียงแสนด้วยเสียงเพลง ผลผลิตจากโครงการวิจัย โครงการวิจัยพื้นที่ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน และโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข หัวหน้าโครงการวิจัย และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ควบคุมการจัดแสดง
“ฟื้นเมืองเชียงแสนด้วยเสียงเพลง” บรรเลงดนตรีโดย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า (Thai Symphony Orchestra) ควบคุมวง โดย พันเอก ดร.ประทีป สุพรรณโรจน์ และสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง โดย ดร.สุชาติ วงษ์ทอง ณ ลานหน้าวัดป่าสัก อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมคณะ และสื่อมวลชน ให้เกียรติเข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า งานนี้เป็นการแสดงศิลปะดนตรี และเป็นการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” ซึ่งดำเนินการโดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยการค้นหาเพลงเก่าของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมเล่นผ่านวงดนตรีซิมโฟนีออร์เคสตร้า เพื่อรักษาเพลงเก่า นำมาเสนอในรูปแบบใหม่ เป็นการรังสรรค์ท่วงทำนองคีตศิลป์กระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่บนรากฐานสิ่งเก่า
กิจกรรมบรรเลงเพลงพื้นบ้านที่จังหวัดเชียงราย โดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า เป็นหนึ่งในผลงานการวิจัย “โครงการวิจัยพื้นที่ ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชุมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน และโครงการขยายผลต่อยอดนวัตกรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ”
การบรรเลงดนตรีโดยวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า เป็นการนำไปสู่การส่งเสริมการรังสรรค์คีตศิลป์ผ่านบทเพลงและท่วงทำนองอันเป็นเอกลักษณ์เป็นการสร้างผลงานศิลปะทางวัฒนธรรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมการอนุรักษ์และต่อยอด โดยมี อาจารย์สุกรี เจริญสุข และคณะ จะเป็นตัวอย่างในการสร้างสรรค์ท่วงทำนองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติเกิดการสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษของเราหลงเหลือไว้โดยการ สร้างดนตรี สร้างศิลปะ สร้างการละเล่น เกิดการพัฒนาด้วยดนตรีพื้นบ้านอันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของคนไทยสู่ระดับสากล
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการให้การสนับสนุน ในการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งศาสตร์และศิลป์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมหนึ่งในนั้นก็คือในเรื่องของงานดนตรี การสร้างสรรค์งานศิลป์ด้านดนตรี อีกหลายพื้นที่ที่รับการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้นำไปสู่การขยายผลต่อยอดวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน เพื่อนำไปเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ
กิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การส่งเสริมและอนุรักษ์ในด้านคุณภาพของศิลปวัฒนธรรมให้เกิดขึ้น การดึงศิลปะวัฒนธรรม การดึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นออกมาเรียงร้อยผ่านความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นผ่านดนตรีพื้นบ้าน การสื่อสารออกมาผ่านดนตรีมาตรฐานสากล วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ในอนาคตผลิตภัณฑ์ของดนตรีพื้นบ้านของเราได้รับการยอมรับและพัฒนาให้เป็นมาตรฐานของสินค้าที่จะสื่อสารออกไปสู่สากล
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข เปิดเผยว่า ปัจจัยการนำเพลงท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านเพลงไทยที่ได้จากการศึกษาค้นคว้ามาเรียบเรียงใหม่ โดยการสนับทุนการวิจัยจาก วช. ในปีงบประมาณ 2565 ได้รับอนุมัติให้ต่อยอดโครงการไปแสดงดนตรีตามหัวเมืองใหญ่ 5 เมืองคือ สุโขทัย เชียงแสน สกลนคร เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช โดยยังคงรักษารูปแบบเดิม แต่ละเมืองก็จะมีบทเพลงท้องถิ่นงานวิจัยชิ้นนี้นำวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า พร้อมนักดนตรีที่มีฝีมือทุกคนไปแสดงในพื้นที่ ในท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม โดยนำบทเพลงของชุมชนและท้องถิ่นที่ผู้คนรู้จักไปแสดงแทนบทเพลงคลาสสิกของฝรั่ง
นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงในพื้นที่โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ สถานที่ควรเคารพเพื่อใช้ดนตรีหล่อหลอมและกล่อมเกลาความรู้สึกใหม่ของสังคม เสียงดนตรีที่สะอาดออกมาจากจิตใจที่สะอาด อาทิ วัดพระราม พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา ปราสาทหินอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่วัดเจดีย์หลวง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
อุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน จึงเป็นหนึ่งเป้าหมายของการแสดง โดยอธิบายเรื่องราวของเพลงให้ผู้ฟังก่อนเข้าสู่บทเพลงพร้อมทั้งประกอบด้วยการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมประกอบบทเพลง การวิจัยดนตรีครั้งนี้เป็นการทดลองที่จะนำเสนอโดยเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันเพื่อจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เป็นทางเลือกให้กับวิถีชีวิต ชุมชน และท้องถิ่นเป็นรูปแบบวัฒนธรรมใหม่สู่การขยายทางวัฒนธรรมทางด้านดนตรีต่อไป
โดยการแสดงดังกล่าวนี้ได้จุดประกายแสงสว่างไสวทำให้คนในพื้นที่ได้มองเห็น และตระหนักถึงการรักษาบทเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่ เป็นประกายที่สำคัญ ในโอกาสนี้ได้จัดการแสดงบรรเลงบทเพลง เพลงวงคนเวียงเก่า วงสะล้อซอซึงชาวบ้านเชียงแสน เพลงระบำเชียงแสน จากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เพลงฤๅษีหลงถ้ำ เป่าปี่จุมโดย นายภานุทัต อภิชนาธง จากวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นต้น เพลงพื้นบ้านจะคงอยู่ต่อไปหากลูกหลานไทยช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานเพลงพื้นบ้านให้คงอยู่มนต์เสน่ห์แห่งคีตศิลป์สะท้อนวิถีชีวิตของชุมชนต่อไปอีกด้วย
นายสมนึก สุขสุวรรณ์ วงดนตรีพื้นบ้าน คนเวียงเก่า อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย วงดนตรีพื้นบ้านสะล้อ ซอ ซึง ที่ได้รับโอกาสให้มาแสดงเปิดวงในงาน ฟื้นเมืองเชียงแสนด้วยเสียงเพลง กล่าวว่า วงดนตรีพื้นบ้านนี้เริ่มมาเมื่อปี 2557 มีสมาชิก10 คน ปกติเล่นเพลงพื้นเมืองตามงานมงคลต่างๆรวมถึงงานศพ โดยเพลงที่เลือกมาเล่นนั้นเป็นเพลงโบราณ พิลาสเชียงแสน พิลาศแปลว่าความงาม เป็นการบรรยายความของเมืองเชียงแสนในสมัยโบราณ และยังมีเพลงฟ้อนสาวไหมเชียงใหม่ ล่องแม่ปิง มอญดำ ที่นำขับกล่อมบทเพลงโบราณเชียงแสน เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงเก่าให้คงอยู่ และดีใจที่ ดร.สุกรี เจริญสุข ได้นำเพลงเหล่านี้มาถ่ายทอดผ่าน วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้า ทำให้บทเพลงเหล่านี้ ทรงคุณค่า และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
สำหรับการแสดงวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้านี้ เป็นผลงานการวิจัยในโครงการวิจัยพื้นที่ ทางวัฒนธรรมดนตรีเพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์จินตนาการใหม่โดยอาศัยร่องรอยวิถีชีวิตของชมชนผ่านศิลปินในท้องถิ่นผู้สืบทอดวัฒนธรรมดนตรีของชุมชน และโครงการขยายผลต่อยอดวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เป็นมรดกชาติ โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. สนับสนุน ทุนวิจัยให้ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ดำเนินการโดย รศ.สุกรี เจริญสุข ในการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการแสดงบรรเลงเพลงพื้นบ้านในหลายภูมิภาคทั่วประเทศมาแล้ว