ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างระดมสรรพกำลังเพื่อคิดค้นวิจัยสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ตระหนักถึงปัญหาในการระบาดของโรคโควิด-19 และได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาด และเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักประดิษฐ์ที่ทุ่มเทเสียสละในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วช. จึงได้มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2565 ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ให้กับนวัตกรรม “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” Express Analysis Mobile Unit ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ และคณะ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” เกิดจากปัญหาความล่าช้าของการวิเคราะห์ผลการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก นักประดิษฐ์จึงต้องการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสนับสนุนการตรวจเชิงรุกของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชึ่งนวัตกรรมนี้ช่วยให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” เป็นรถที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เพื่อให้ผลิตรถต้นแบบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลเพื่อนำมาออกแบบรถจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
การพัฒนา “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” เริ่มจากการรับฟังปัญหาและคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับกระบวนการวิเคราะห์ผลติดเชื้อโรคโควิด-19 และทำการออกแบบ ผลิตรถต้นแบบ ทดสอบมาตรฐานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และนำรถต้นแบบไปทดสอบการใช้งานจริงเพื่อเก็บข้อมูลการใช้งาน ข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงในการผลิตรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ คันต่อๆ ไป
คุณสมบัติพิเศษของ “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” โดยภายในเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ที่จัดแบ่งพื้นที่การปฏิบัติงานตามมาตรฐานการแพทย์เพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการทำงาน มีการนำนวัตกรรมมาใช้เป็นโครงสร้างผนังร่วมกับการคำนวณทางหลักวิศวกรรมเพื่อลดแรงสั่นสะเทือน มีระบบความดันเพื่อป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค ซึ่งติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการวิเคราะห์ผลตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้สามารถรองรับการวิเคราะห์ได้มากถึง 1,000 ตัวอย่างต่อวัน สามารถนำไปวิเคราะห์โรคให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) และโรคอื่น ๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิค PCR สามารถช่วยลดปัญหาความแออัดภายในโรงพยาบาลและความล่าช้าของการขนส่งตัวอย่างได้
ปัจจุบัน “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” ใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ในการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในสถานที่เชิงรุกทั่วพื้นที่ชุมชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของประเทศไทย ซึ่งเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อยู่ อย่างต่อเนื่อง