นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต และเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ตามแผนแม่บทประเด็นการเกษตร เรื่องเกษตรปลอดภัย รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้ดำเนินโครงการนำร่อง “โครงการโรงเรียนอาหารปลอดภัย (Q Canteen)” ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงอาหารวัตถุดิบปลอดภัยในโรงเรียน อันเป็นการก่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านอาหารที่บริโภค โดยเริ่มจากนักเรียนและครู ตลอดจนผ่านไปยังผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นการสร้างตลาดสินค้าเกษตรมาตรฐานที่ได้มาตรฐานแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร และผู้ประกอบการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดจนส่งเสริมหลักสูตรอาหารศึกษา ให้เป็นหลักสูตรเสริมการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่าง ๆ อันเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง มกอช. กับสถานศึกษาให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร
ทั้งนี้ มกอช. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องถึง พ.ศ. 2564 ซึ่งมีโรงเรียนให้การตอบรับและเข้าร่วมโครงการ จำนวน 17 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนกว่า 7,000 คน ประกอบด้วย โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 11 โรงเรียน จังหวัดปทุมธานี จำนวน 4 โรงเรียน และในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 โรงเรียน โดย มกอช. ได้ดำเนินการส่งเสริมให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลือกใช้วัตถุดิบสินค้า Q หรือ GAP สินค้าเกษตรปลอดภัยที่ได้รับการรับรองต่างๆ หรือสินค้าตามสอบย้อนกลับได้ มาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารในโรงอาหาร พร้อมสนับสนุนรายชื่อแหล่งผลิตหรือผู้ประกอบการสินค้า Q หรือ GAP รวมทั้งเกษตรอินทรีย์แก่ผู้ประกอบการอาหารในโรงเรียน ตลอดจนสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ด้านอาหารศึกษาและอาหารปลอดภัย และร่วมจัดกิจกรรมของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
ล่าสุด มกอช. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย ภายใต้โครงการโรงเรียนอาหารปลอดภัย (Q Canteen) ณ โรงเรียนประสาทวิทยานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยมีกิจกรรมการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจสินค้าเกษตรปลอดภัย (Q) รวมทั้งกิจกรรมภาคปฏิบัติในการปลูกผักตามมาตรฐาน GAP โดยมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เข้าร่วมกว่า 40 คน
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 มกอช. จะดำเนินการเตรียมความพร้อมในลักษณะโรงเรียนนำร่องกับโรงเรียนที่มีความพร้อม และมีการดำเนินการตามหลักการอาหารปลอดภัย รวมทั้งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำใช้อาหารศึกษาและโภชนาการกลางมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบในการดำเนินโครงการโรงเรียนอาหารปลอดภัย และนำมาขยายผลการดำเนินงานในปีถัดไป
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้รับการสนับสนุนที่ดียิ่งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยได้ประสานความร่วมมือในการขยายการดำเนินงานเพื่อสร้างวัฒนธรรมอาหารปลอดภัย โดยในอนาคตจะดำเนินการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง ความร่วมมือดำเนินการโครงการโรงเรียนอาหารปลอดภัย (Q Canteen) ระหว่าง มกอช. และ สช. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงเรียนอาหารปลอดภัยในโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม และเสริมสร้างหลักสูตรอาหารศึกษาเป็นหลักสูตรเสริมการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่อไป รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว