นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิต อ้อยโรงงานของประเทศ ฤดูกาลผลิตปี 2564/65 (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2564) คาดว่าจะมีเนื้อที่เพาะปลูก 9.90 ล้านไร่ ผลผลิต 77.75 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.85 ตัน เพิ่มขึ้น จากปี 2563/64 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.28 ล้านไร่ ผลผลิต 66.95 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 7.21 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.68 ร้อยละ 16.13 และร้อยละ 8.88 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกันราคารับซื้ออ้อยให้แก่ชาวไร่ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก
จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าอ้อยโรงงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากเป็นอันดับที่ 1 - 3 ของภาคเหนือ ตามลำดับ พบว่า ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 1.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.70 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ได้ผลผลิตรวม 7.40 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ของผลผลิตทั้งประเทศ โดยหากจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า กำแพงเพชร มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.75 ล้านไร่ ผลผลิต 3.38 ล้านตัน เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.50 ล้านไร่ ผลผลผลิต 1.50 ล้านตัน และ นครสวรรค์ มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.70 ล้านไร่ ผลผลิต 2.52 ล้านตัน
สำหรับพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์ขอนแก่น 3 เนื่องจากเป็นพันธุ์อ้อยที่มีศักยภาพ ให้ผลผลิตประมาณ 18 - 20 ตันต่อไร่ อีกทั้งยังทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี และให้ค่าความหวาน 11 - 13 ซี.ซี.เอส. ขณะที่ราคาอ้อยโรงงาน พบว่า โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ 1,070 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. โดยผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีน้อยกว่าความต้องการของโรงงานน้ำตาล ทำให้เกิดการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่ จึงนับว่าส่งผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าปี 2563/64 (ฤดูการผลิตปี 2563/2564 มติรัฐมนตรีกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ 920 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส.) ทั้งนี้ อ้อยที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะถูกขนไปขายที่โรงงานและลานรับซื้อ ซึ่งโรงงานจะให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และจะจ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด สะอาด และมีคุณภาพ ในส่วนของลานรับซื้อจะให้ราคาอ้อยสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมา (เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2564) พื้นที่ปลูกอ้อยทั้ง 3 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง และยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ในเดือนกันยายน 2564 ประกอบกับพบปัญหา “หนอนกออ้อย” หรือ หนอนเจาะหน่ออ้อย หรือ หนอนเจาะลำต้นอ้อย ซึ่งระบาดเข้าทำลาย ลำต้น ทำให้อ้อย ยอดเหี่ยวและแห้งตาย โดยทางสมาคมชาวไร่อ้อยเพชรบูรณ์ ได้มีการเพาะขยายพันธุ์แมลงหางหนีบและแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อใช้เป็นศัตรูธรรมชาติในการกำจัดและควบคุมหนอนกออ้อยให้แก่เกษตรกร
นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า สำหรับการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า โรงงานน้ำตาลได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Bubble and Seal) ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยกำหนดให้คนขับรถบรรทุกอ้อยต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และส่งผลการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ก่อนนำอ้อยเข้าโรงงาน นอกจากนี้ รถบรรทุกอ้อยทุกคันจะติดธงแดงขนาดใหญ่ท้ายรถซึ่งมีข้อความว่า “รถช้าบรรทุกอ้อย” และ “รถพ่วงบรรทุกอ้อย” ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของการขนส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล และมีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์บริเวณถนน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในภาพรวมการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีความเรียบร้อย ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน
ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2564/65 ราคาอ้อยโรงงานสูงกว่าปีการผลิตที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรในจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ มีความพึงพอใจกับราคาที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ของ สศก. พบว่า ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้เกษตรกรที่จะลงทุนปลูกอ้อยใหม่ใน
ฤดูการผลิตนี้ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย