วันที่ 22 ธันวาคม 2564 นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และคณะ ร่วมชมการสาธิตและสังเกตการณ์การทำประมงด้วยเรือฝึกปลาลัง ณ ท่าเทียบเรือประมงศรีราชา (ท่าเรือจรินทร์) จังหวัดชลบุรี โดยมีนางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการและผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ
นายสมชวน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การเยี่ยมชมเรือฝึกปลาลังในครั้งนี้ ได้รับชมการสาธิตการใช้เครื่องมือช่วยทำการประมงอวนลาก อวนลอย และลอบ โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการปล่อยอวนไปจนถึงการเก็บและกู้อวนด้วยเครื่องมือทุ่นแรงระบบไฮดรอลิกส์ การใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือช่วยทำการประมงประเภทอื่นๆ รวมไปถึงการมีพื้นที่ที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยสำหรับแรงงานและลูกเรือ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพรอบด้าน ทางกรมประมงหวังว่า ความร่วมมือระหว่างกรมประมงและศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ผ่านเรือฝึก “ปลาลัง” นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อชาวประมง ให้สามารถใช้เรือฝึกปลาลังเป็นต้นแบบ หรือเป็นแนวความคิด
ในอนาคต SEAFDEC มีโครงการเพื่อสาธิตการทำประมงโดยใช้เรือประมงต้นแบบนี้ให้กับชาวประมงในจังหวัดระยองและตราดในช่วงเดือนมกราคม 2565 เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับเรือประมงของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน เชื้อเพลิง และรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำที่จับได้อย่างคุ้มค่าต่อไป และทางกรมประมงยังจะได้ต่อยอดไปยังเรือประมงต่างๆในทุกภูมิภาคของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย
นางมาลินี สมิทธิ์ฤทธี เลขาธิการและผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) กล่าวว่า เรือฝึก “ปลาลัง” เดิมเป็นเรือประมงอวนล้อมจับ และได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นเรือฝึกประมงอวนลากในปี 2564 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกรมประมงและรัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้งบประมาณ Japanese Trust Fund ในหัวข้อโครงการ Responsible Fishing Technology and Practice ให้เป็นเรือฝึกประมงตัวอย่าง ในการพัฒนา ปรับปรุงเครื่องมือทำการประมง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบอาชีพด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งทำการประมง รวมถึงภาวะโลกร้อน (Low Impact and Fuel Efficient)
นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่และสุขอนามัยที่ดีของลูกเรือบนเรือประมง เสริมสร้างความปลอดภัยการทำงานในทะเล การส่งเสริมและให้ความสำคัญในด้านการเก็บรักษาคุณภาพสัตว์น้ำบนเรือประมง ทั้งแบบสดและมีชีวิต (Fresh & Life Fish) อย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อให้สัตว์น้ำที่จับได้สามารถคงความสด ลดการสูญเสีย และขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาด
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเรือฝึกปลาลัง สามารถติดตามได้ที่ Facebook Page “เรือปลาลัง - ซีฟเดค” ซึ่งทางศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่สนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าต่อไป